ในช่วงบ่ายคล้อยปลายสัปดาห์ก่อน เราขับผ่านย่านท่าเตียน พอถึงวัดโพธิ์ เห็นว่าสภาพจราจรโล่ง จึงลองขับรถเข้าไปที่จอดรถข้างวัด โดยผ่านมาย่านนี้หลายครั้งแล้ว แต่ไม่สามารถจอดรถได้ ทำให้ไม่ได้เข้าไปเที่ยววัดกันเสียที วันนี้ พอเลี้ยวเข้าไป หวังเพียงว่าจะที่จอดสักคัน และแล้ว โชคเป็นของเรา มาเจอที่จอดรถที่หน้าทางเข้าประตูวัดพอดี ทำให้ได้มาไหว้พระสมประสงค์ดังใจ

วัดโพธิ์บรรยากาศยามบ่ายวันนี้

ความน่าสนใจห้ามพลาดชมเมื่อมาเที่ยววัดโพธิ์ 

  1. สักการะพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ
  2. สักการะพระพุทธปฏิมา 5 พระองค์ที่พระวิหารทิศ
  3. กราบพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ที่พระอุโบสถ 
  4. ชมความวิจิตรบรรจงของพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล 
  5. รู้จักยักษ์วัดโพธิ์แห่งท่าเตียน ที่ทางเข้ารั้วพระมณฑป
  6. เดินเมื่อยเพราะเดินชมวัดหลายชั่วโมง มาลองศึกษาท่ายืดเส้นจากฤาษีดัดตน และตำรานวดแผนโบราณ 

รู้จักวัดโพธิ์ 

วัดโพธิ์ เป็นชื่อเรียกติดปากของคนไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลก มีชื่อเป็นทางการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดโพธาราม ได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ 1 เพราะวัดโพธารามเป็นหนึ่งในวัดเก่าที่ขนาบพระบรมมหาราชวังด้านทิศใต้ (ส่วนวัดที่ขนาบทางด้านทิศเหนือ คือ วัดสลัก หรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) เมื่อสถาปนาเสร็จ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และใช้ชื่อนี้กันมาถึงทุกวันนี้ 

สักการะพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และกราบพระพุทธปฏิมาในพระวิหารทิศ 

พระนอนวัดโพธิ์ ตั้งอยู่ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ องค์พระมีความยาว 46 เมตร ถูกจัดว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และเป็นอันดับ 4 ในประเทศ กิจกรรมที่พึงทำ นอกเหนือจากการกราบสักการะพระนอน เราแนะนำให้ใช้เวลาชมศิลปะภายในพระวิหาร ประกอบไปด้วยการชมจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องมหาวงศ์หรือพงศาวดารพระพุทธศาสนาในทวีปลังกา และเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ชมลายรดน้ำลายที่บานประตู และบานหน้าต่างที่วิจิตรบรรจงอีกด้วย

พระนอนในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3
จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหาร
ช่างศิลป์ไทย กำลังบูรณะภาพเขียนที่มีอายุหลาย 100 ปี เพื่อให้คนไทยรุ่นหลังได้ชมกันต่อไป
ก่อน (ซ้าย) และหลัง (ขวา) การบูรณะ
ลายรดน้ำที่บานหน้าต่าง
รอยพระพุทธบาทประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ ภาพถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ภาพมงคลโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์  ภาพเครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์  และภาพส่วนประกอบพระภูมิในจักรวาลตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา 
ซูมรอยพระพุทธบาทประดับมุก
ชมใบลานโบราณ

กราบพระพุทธปฏิมากร 5 องค์
เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งขีวิต

เมื่อไหว้พระนอนแล้ว เราขอพาทุกคนไปไหว้พระพุทธปฏิมากร 5 องค์ ที่ประดิษฐานในพระวิหารทิศทั้ง 4 รอบพระระเบียงพระอุโบสถ โดยอาจจะเริ่มสักการะพระพุทธปฏิมากรที่มุขหน้าของวิหารทิตะวันตก และเดินต่อเนื่องไปยังทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ เมื่อสักการะครบทั้ง 4 องค์แล้ว ก็เดินผ่านพระระเบียงไปลานพระอุโบสถ ไปที่มุกหลังของพระวิหารทิศใต้อีกครั้ง เพราะจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาองค์ที่ 5

มุขหน้า พระวิหารทิศนาคปรก หรือทิศตะวันตก 
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินศรี  พระพุทธรูปปางนาคปรก อัญเชิญมาจากจังหวัดลพบุรี 
มุขหน้า พระวิหารทิศป่าเลไลย หรือทิศเหนือ
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปาลิไลย ปางป่าเลไลยก์ หล่อขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1 
มุขหน้า พระวิหารทิศปัญจวัคคีย์ หรือทิศใต้
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระพุทธชินราชปางปฐมเทศนาสมัยอยุธยา อัญเชิญมาจากจังหวัดอยุธยา 
มุขหลัง พระวิหารทิศพระโลกนาถ หรือทิศตะวันออก
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธโลกนาถศาสดาจารย์ พระพุทธรูปยืน สูง 10 เมตร หล่อด้วยสำริด
อัญเชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดอยุธยา  
ทั้งนี้ ที่มุขหน้า พระวิหารทิศตะวันออก
จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่วันที่เราไปเที่ยววัดโพธิ์นั้น มุกหน้าไม่เปิดให้เข้าสักการะ 
โขลนทวาร คือ ซุ้มประตูหิน หรือ ซุ้มประตูสิริมงคล ตั้งด้านหน้าของมุขหลัง พระวิหารทิศตะวันออก
เล่าเรื่อง ห้องสิน หนึ่งในวรรณกรรมเรื่องเทพเจ้าของจีน

กราบพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ที่พระอุโบสถ 

ในพระอุโบสถวัดโพธิ์แห่งนี้ นับว่าเป็นสถานที่สำคัญทั้งทางพุทธศาสนสถานและประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะเป็นที่สักการะพระพุทธเทวปฏิมากร ปางสมาธิ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ที่ชั้น 1 ของฐานชุกชีของพระพุทธเทวปฏิมากรอึกด้วย เราขอชวนคนไทยมากราบไหว้พระบรมอัฐิ เพื่อรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 1 ที่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้พวกเราชาวไทย ได้มีบ้านเมือง ที่ดินทำกิน และประเทศชาติจนมาถึงทุกวันนี้ 

พระอุโบสถวัดโพธิ์สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ถ่ายยามใกล้อาทิตย์อัสดง และท่ามกลางหมู่เมฆฝน
ฐานชุกชีของพระพุทธเทวปฏิมากรมี 3 ชั้น
ชั้น 1 (บนสุด) บรรจุพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1
ชั้น 2 ประดิษฐานรูปพระอัครสาวก
ชั้น 3 (ชั้นล่างสุด)​ประดิษฐาน พระมหาสาวก 8 องค์ หรือ พระอรหันต์ 8 ทิศ
พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถวัดโพธิ์องค์นี้
เดิมประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดคูหาสวรรค์ (ชื่อเดิมศาลาสี่หน้า)
จิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถเขียน เรื่อง มโหสถบัณฑิต เมืองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช  และพระสาวกเอตทัคคะ 41 องค์ เป็นต้น ทางวัดไม่อนุญาตให้เดินรอบกำแพงพระอุโบสถด้านใน เพราะเป็นเขตของสงฆ์
พระระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถ มีอยู่ 2 ชั้น ทั้งสองชั้นเชื่อมต่อด้วยพระวิหารทิศ ที่พระระเบียงประดิษฐานพระพุทธรูปมากกว่า 350 องค์ (รวม 2 ชั้น) จากยุคสุโขทัย เชียงแสน ลพบุรี อู่ทอง และอยุธยา ทำให้เราสามารถศึกษาพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ได้ที่พระระเบียง นอกจากนี้ เรายังสามารถอ่านจารึกเพลงยาว ตำราฉันท์ในกรอบหิน จำนวนร่วม 100 แผ่น 

ชมความวิจิตรบรรจงของพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล 

กลุ่มพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล อยู่ในรั้วกำแพงสีขาวข้างศาลาการเปรียญ  ความน่าสนใจในบริเวณนี้ คือ การชมความวิจิตรบรรจงของงานสถาปัตยกรรมไทย ได้แก่  เจดีย์ย่อไม้สิบสอง ที่ตั้งหง่านหลากสีตั้งแต่ สีเขียว ขาว เหลือง และน้ำเงินเข้ม พร้อมการประดับประดับลวดลายกระเบื้องเคลือบอย่างสวยงาม คล้ายกับงานสถาปัตยกรรมที่วัดอรุณ จุดเด่นอื่นที่ชวนชม คือ ซุ้มประตูศิลปะแบบจีน ประดับเป็นยอดไม้ด้วยกระเบื้องเคลือบวิจิตรบรรจง 

ภาพนี้ ถ่ายจากนอกรั้วกลุ่มพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล ที่หนัาลานพระวิหารพระพุทธไสยาสน์
จะสามารถเก็บภาพมหาเจดีย์ทั้ง 4 องค์ได้ครบ
พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ พระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 1 (ในภาพองค์กลาง) สร้างโดยรัชกาลที่ 1 ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ภายในบรรจุพระบรมธาตุ และครอบบพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง 16 เมตร

พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน พระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 2 (ในภาพองค์ซ้ายไกลสุด) สร้างโดยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชอุทิศถวายให้รัชกาลที่ 2 ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว

 พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร  พระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 3 (ในภาพองค์ขวาใกล้สุด) สร้างโดยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นพุทธบูชา ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง 


พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย พระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 4 (องค์ซ้าย) มีรูปทรงทีแปลกตาจากพระมหาเจดีย์องค์ที่  1-3  สร้างโดยรัชกาลที่ 4 สร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงิน
ซุ้มประตูทางเข้าบริเวณกลุ่มเจดีย์มหาเจดีย์ 4 รัชกาล สวยสะดุดตา

รู้จักยักษ์วัดโพธิ์แห่งท่าเตียนที่ทางเข้ารั้วพระมณฑป

หนึ่งในความตั้งใจมาวันโพธิ์วันนี้ คือ การมาตามหายักษ์วัดโพธิ์ แห่งตำนานกำเนิดท่าเตียน ที่ว่า ยักษ์วัดโพธิ์ รบกับยักษ์วัดแจ้งวัดแจ้ง (วัดอรุณ) เพราะยักษ์วัดโพธิ์ยืมเงินยักษ์วัดแจ้งแล้วไม่คืน จนทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทเหยียบย่ำต้นไม้ตายราบ ทำให้พื้นที่หน้าวัดโพธิ์โล่งเตียน จนเป็นชื่อท่าเตียน สงครามดังกล่าวไม่มีข้อสรุปว่าใครเป็นผู้ชนะ ตำนานเล่าว่ายักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ  และพระอิศวรลงโทษสาบให้ยักษ์ทั้งสองวัดกลายเป็นหินเพื่อเฝ้าวัดทั้งสองแห่งนี้  

วัดพระโพธิ์ มีขนาดเล็กกว่าวัดแจ้งมาก มี 2 คู่ อยู่ในซุ้มประตูสองข้างที่รั้วกำแพงทางเข้าพระมณฑป  ภาพนี้ คือ คู่แรกฝั่งประตูวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นที่ตั้งยักษ์สัทธาสูรและยักษ์พญาขร  ส่วนคู่ที่สองจะอยู่ที่ทางเข้าฝั่งวิหารศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งของยักษ์ไมยราพ ยักษ์แสดงแสงอาทิตย์
พระมณฑปออกแบบตามสถาปัตยกรรมจตุรมุขที่เครื่องยอดทรงมงกุฎ ที่นี่ เป็นที่เก็บตู้พระไตรปิฎกสมบัติของวัด 
ลายปูนปั้นที่ซุ้มประตูทางเข้าด้านนอก เป็นลายกิเลนประดับกระเบื้อง
ลายปูนปั้นซุ้มประตูด้านใน ที่ประดับกระเบื้องลายไก่
สระจระเข้ข้างพระมณฑป สามารถชมได้จากด้านนอกรั้วกำแพงเท่านั้น เพราะไม่ปิดให้เข้าชม

เดินเมื่อยเพราะเดินชมวัดหลายชั่วโมง มาลองศึกษาท่ายืดเส้นจากฤาษีดัดตน และตำรานวดแผนโบราณ  

วัดโพธิ์ โด่งดังเรื่องการนวดแผนโบราณ โดยเป็นโรงเรียนนวดแผนไทย และสถานที่นวดบำบัดให้กับผู้มาเยือน แต่ในวันนี้ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากการระบาดของช่วงโควิท-19  

เขามอ คือ สวนหินหย่อมที่ปลูกไม้ประดับหลากพันธุ์

แต่ไม่เป็นไร เราสามารถชมท่าทางจากฤาษีตามสวนหินหย่อมที่ปลูกไม้ประดับร่มรื่น (เขามอ) รอบๆ วัด  และในวันนี้ขอเก็บภาพมาฝาก เผื่อใครอยากยืดเส้นสายก็ทำตามกันได้ แต่ระวังหน่อยนะ บางท่าอาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับมือใหม่!!!

ภายในศาลารายหน้าพระมหาเจดีย์ จารึกจิตรกรรมฝาผนังตำราศาสตร์นวดแผนโบราณ 
ซูมจิตรกรรมฝาผนัง
เดินชมฤาษีดัดตนแล้วมองไปรอบๆ บริเวณกำแพงจะเห็นซุ้มประตูทรงมงกุฎ ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ 3 มีเห็นตุ๊กตาสลักหินมือถืออาวุธ มีชื่อว่า “ลั่นถัน นายทวารบาล” ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังและป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในวัด

เดินเที่ยวชมวัดโพธิ์วันนี้ เพลินจนคล้อยค่ำเกือบ 17.45 น. ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง ได้รับความประทับใจในทุกมิติ ไม่ว่าความสุขทางใจ การตั้งจิตอธิษฐาน การชมศิลปกรรมไทย รำลึกถึงบูรพกษัตริย์ไทยและที่สำคัญการชมงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินไทยและอินเดียอีกด้วย

หากวัดยังไม่ปิดและเจ้าหน้าที่ไม่เตือนว่าวัดกำลังจะปิด เราคงจะเดินเพลินต่อไปลืมกลับบ้าน  และวันนี้ นับว่าเป็นวันที่คุ้มค่ากับการหลบภารกิจประจำวันมา aDayoff ที่คุ้มค่าทางใจอย่างแท้จริง

วันนี้ ขอลากลับบ้านไปทำภารกิจเรื่องงานเรื่องครอบครัวก่อนนะ แล้วจะกลับไปเที่ยวใหม่แน่นอน
Errorlloyd

Errorlloyd

เริ่มการท่องเที่ยวสะพายกล้อง มาตั้งแต่อายุ 29 ปี มิชชั่น คือ ทุกปีต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาเรื่องราว เข้าใจที่มาที่ไป รู้จักชีวิตหรือความคิดของคนต่างถิ่น ทุกสุดสัปดาห์ จะต้องเสาะหาสถานที่เที่ยวที่สามารถเดินทางได้ใน 1 วัน และทุกวันหลังเสร็จจากภารกิจงานและชีวิต มุ่งหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
Previous post 13 ตุลา เที่ยววัดเรียนปรัชญาธรรม ที่ วัดปัญญานันทาราม
Next post คืนนี้ วัดโพธิ์ฯ เล็กลง เพราะเนืองแน่นด้วยศรัทธา