ตามรอยกรุสมบัติแห่งชาติ วัดราชบูรณะ อยุธยา ตอนที่ 1

หายหน้าหายตาไปกว่า 2 เดือน เพราะต้องผ่าตัดจากไหล่ติดและเอ็นไหล่ฉีก วันนี้ พอมีเรี่ยวแรงยกกล้อง ก็ขอออกเดินทาง Adayoff กันต่อ วันนี้ เลือกจุดหมายปลายทาง วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา 

วันนี้ ออกเดินทางแต่เช้า 7 โมง ผ่ารถติดใจกลางกรุงเทพฯ​ ไปถึงอยุธยากรุงเก่าเวลา 8 โมงครึ่ง วางแผนการเที่ยวโบราณสถานกลางแจ้งให้เสร็จไม่เกิน 10 โมง เพราะกรมอุตุฯ ได้ให้คำพยากรณ์อากาศไว้ที่ 40+ องศา คาดว่าร่างกายจะไม่น่าทนทานได้ไหว และหลังจากนั้น เตรียมมุ่งหน้าเดินทางไป พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา หลบแดดช่วงเที่ยง เริ่มกันเลยว่าวันนี้ได้พบเจอสิ่งใดกันบ้าง 

ทำไมถึงเลือกมาวัดราชบูรณะ 

1. สัมผัสประวัติศาสตร์ 600 ปี “กว่าจะเป็นวัดราชบูรณะ”
2. ชมรอยวัดวาอารามในสมัยอยุธยา
3. ศึกษาการแกะสลักหินนูนต่ำที่พระปรางค์ 
4. ตามรอยโจรผู้บุกรุก กรุมหาสมบัติของชาติ จนเป็นข่าวใหญ่ทุกหน้า นสพ. เมื่อ 68 ปีที่แล้ว
5. จุดเริ่มต้นแห่งการศึกษาโบราณวัตถุของชาติ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา 


กว่าจะเป็นวัดราชบูรณะ

ย้อนในเมื่อ 600 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่เจ้านครอินทร์ (อีกพระนามของสมเด็จพระอินราชา) สวรรคต โอรสทั้งสามที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองลูกหลวง ต่างเร่งเสด็จพระราชดำเนินกลับมาที่อยุธยา  เจ้าอ้ายพระยาจากเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาจากเมืองแพรกศรีราชา (ปัจจุบัน คือ อ. สรรคบุรี จังหวัดชัยนาท)​ ได้พระราชดำเนินมาถึงก่อนพร้อมกัน จึงได้กระทำยุทธหัตถีแย่งชิงราชสมบัติ ที่เชิงสะพานป่าถ่าน ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองประตูข้าวเปลือกเพื่อเข้าพระนครทางด้านเหนือ จนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ 

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าสามพระยา พระราชโอรสคนที่ 3 ที่เสด็จพระราชดำเนินมาถึงท้ายสุด จึงได้สืบพระราชบัลลังก์ต่อไป ได้สร้างวัดราชบูรณะบนพื้นที่ที่เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพให้กับเจ้านครอินทร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้กับพระราชบิดา นอกจากนี้ ยังได้สร้างเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเชษฐาของพระองค์อีกด้วย 

เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ ตั้งอยู่กลางสี่แยกบริเวณหน้าวัดราชบูรณะ ปัจจุบัน

ชมรอยวัดวาอารามในสมัยอยุธยา

มุมมองพระปรางค์จากให้พระวิหาร

วัดราชบูรณะ เป็นโบราณสถานทีอยู่ในการควบคุมดูแลโดยกรมศิลปากร มีค่าเข้าชม 10 บาท เมื่อผ่านเข้าไปบริเวณรั้ววัด จะพบผังสถาปัตยกรรมเรียงรายจากประตูทางเข้าตามนี้ เริ่มต้นจากพระวิหาร ต่อไปเป็นที่ตั้งพระปรางค์ที่มีศาลารายสร้างโดยรอบ และมีพระอุโบสถเป็นอาคารสุดท้าย 

พระวิหาร วัดราชบูรณะ


พระวิหารจากด้านนอก
ซุ้มทางเข้าจากประตูด้านนอก เห็นพระวิหาร
มุมมองภายพระวิหาร เห็นเจดีย์รายรอบ

พระวิหาร พระอุโบสถที่ได้รับการบูรณะ เหลือคงไว้ซึ่งผนัง และร่องรอยของฐานพระพุทธรูป แต่ด้วยขนาดห้องโถงของพระวิหารและพระอุโบสถ ที่มีขนาดใหญ่มาก ทำให้สามารถสัมผัสความอลังการในอดีต ส่วนพระปรางค์สร้างตามแบบฉบับของขอม  ตระหง่านเป็นศูนย์กลาง ดูน่าเกรงขามและศักดิ์สิทธิ์​เป็นอย่างยิ่ง 

พระปรางค์วัดราชบูรณะ

ศาลาราย รอบพระปรางค์

พระอุโบสถ วัดราชบูรณะ

เสมาหน้าพระอุโบสถ
ภายในพระอุโบสถ

ศึกษาลวดลายปูนปั้นที่องค์พระปรางค์

เดินยืนชมสถาปัตยกรรมโดยรอบแล้ว อย่าลึมใช้เวลาพินิจลายแกะสลักปูนปั้น ที่ยอดพระปรางค์ เราจะเห็นพญาครุฑยุดนาค 4 มุม พร้อมเทวดา มีร่องรอยฐานบัว แกะสลักลายดอกไม้ ที่ลวดสลายวิจิตรบรรจง  นอกจากนี้ ที่ฐานพระปรางค์ด้านซ้าย ยังพบโครงสร้างยักษ์อีกด้วย 

บริเวณยอดพระปรางค์

บริเวณฐานพระปรางค์


กรุมหาสมบัติของชาติ ย้อนรอยโจรผู้บุกรุก จนเป็นข่าวใหญ่ทุกหน้า นสพ. เมื่อ 68 ปีที่แล้ว

ทางเข้ากรุ มองจากด้านล่าง
ทางเดินขึ้นช่วงที่ 1

เมื่อปี พุทธศักราช 2499 ข่าวใหญ่ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องจดจำ เมื่อมีโจรประมาณ 20 คน ขุดกรุที่พระปรางค์ราชบูรณะ ลอบเอาสมบัติออกไปได้  ด้วยความเชื่ออาถรรพ์การลักขโมยสมบัติของแผ่นดินของกษัตริย์ ทำให้โจรเสียสติ เดินไปมอบตัวที่โรงพักเสียเอง ทำให้ตำรวจจับได้ และยังออกตามจับพรรคพวกที่เหลือได้บางส่วน พร้อมของกลาง แต่ก็ของกลางมาเพียง 20% เท่านั้น แต่ถึงกระนั้น เป็นทองโบราณร่วม 100 กิโลกรัม!! ลองคิดสิว่า ทองและสมบัติทั้งหมดนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาลขนาดไหน จากการให้ปากคำของโจรที่จับได้ เล่าว่าลอบขนกันถึง 3 วันทีเดียว 

ทางเดินขึ้นช่วงที่ 2
ทางเดินขึ้นช่วงที่ 3

สิ่งที่ค้นพบ คือ เครื่องทองที่ของใช้ สมบัติ เพชรนิลจินดา ของเจ้านครอินทร์ นอกจากนี้ ยังมีพระเครื่องหลายองค์ที่เป็นที่นิยมเล่นกันในนักสะสม ปัจจุบัน สนนราคาพระจากกรุนี้ มีมูลค่าหลายแสนบาทเลยทีเดียว  

มุมมองจากพระปรางค์ ไปพระวิหาร
ทางเดินลงกรุ

วันนี้ ไม่พลาดจึงเดินตามรอยโจร ขึ้นไปที่ห้องโถงพระปรางค์ การเดินขึ้นบันไดที่ค่อนข้างลาดชัด 3 ชุด แต่มีราวบันไดสามารถยีดเกาะได้  ที่โถงพระปรางค์จะมีทางเดินลงไปกรุด้านล่าง แต่ปิดไม่ให้เข้าไป จากการสังเกตการณ์ถึงสาเหตุที่ปิดนั้น ได้แก่ พื้นที่แคบทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าดูแลความเรียบร้อยได้ตลอดเวลา ตลอดจนในกรุด้านล่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ ที่ค่อยๆ เลือนลางเมื่อสัมผัส ดังนั้น เพื่อรักษาศิลปะของชาตินี้ไว้ จึงไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม  นอกจากนี้ ยังพบงูเขียวตัวยาว เลื้อยพาดยาวด้านบน น่าสะพรึงกลัว เมื่อได้คุยในภายหลังทราบ ในพื้นที่พระปรางค์ เป็นที่อยู่ของหนู ค้างคาว จึงอาจจะไม่ปลอดภัย และเป็นอันตรายต่อผู้เข้าไป 

มุมมองจากจากบนพระปรางค์

ระหว่างเดินลงจากพระปรางค์ สามารถเดินรอบๆ ฐานพระปรางชั้นสองเพื่อ ชมวิว อุโบสถ และศาลารายรอบได้ แต่ต้องระมัดระวังการพลัดตก เพราะ ไม่มีราวจับ


จุดเริ่มต้นแห่งการศึกษาโบราณวัตถุของชาติอายุ 6 ศตวรรษ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

มาที่วัดราชบูรณะ เรียกได้ว่าได้ศึกษาทั้งสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนกรรมจากของจริง แถมยังได้สัมผัสเส้นทางอาถรรพ์ของโจรปล้นชาติ เรียกได้ว่าครบรสชาติจริงๆ แต่เที่ยวที่วัดราชบูรณะอย่างเดียวยังไงก็ไม่สุดนะคะ ต้องไปต่อกันที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา  เพราะสถานที่แห่งนี้ ได้รวบรวมสมบัติจากกรุทองที่ตำรวจตามกลับมาบางส่วน  มาจัดแสดงไว้อย่างน่าชมตามแบบอย่างพิพิธภัณฑ์ระดับโลกเลยทีเดียว ไฮไลท์ คือ พระขรรค์ของสมเด็จพระอินราชา เครื่องประดับ และแบบจำลองภายในพระปรางค์ ตลอดการเดินชม มีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ และพร้อมวิดีทัศน์

พระขรรค์ของสมเด็จพระอินราชา

การเล่าเรื่องวัดราชบูรณะ ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน เพราะ Adayoff มุ่งหน้าต่อไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตามรอยสมบัติของชาติ และเพื่อหลบแดดกลางแจ้งก่อนนะคะ ตอนนี้เวลา 10 โมงแล้ว แดดแรงมาก หมวกเอาไม่อยู่ ร่มเงาก็ไม่ช่วยอะไร ไปละค่ะ และเจอกันในเนื้อหาถัดไปเร็วๆ นี้ 

Errorlloyd

Errorlloyd

เริ่มการท่องเที่ยวสะพายกล้อง มาตั้งแต่อายุ 29 ปี มิชชั่น คือ ทุกปีต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาเรื่องราว เข้าใจที่มาที่ไป รู้จักชีวิตหรือความคิดของคนต่างถิ่น ทุกสุดสัปดาห์ จะต้องเสาะหาสถานที่เที่ยวที่สามารถเดินทางได้ใน 1 วัน และทุกวันหลังเสร็จจากภารกิจงานและชีวิต มุ่งหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
Previous post สัมผัสรสชาติแห่งเมดิเตอร์เรเนียน ที่ Mama Dolores
Next post กรุทองมหาสมบัติ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (ตามรอยกรุสมบัติแห่งชาติ ตอนที่ 2)