ตามรอยพระเจ้าตาก ที่วัดโพธิ์ วัดปากน้ำโจ้โล้ และวัดแจ้ง

เรื่องก่อนหน้า เปิดประเด็นการไปเที่ยวบางคล้า โดยแนะนำเพื่อนๆ ไปกราบสักการะพระเจ้าตากที่อนุสรณ์สถานสถูปเจดีย์พระเจ้าตากที่ปากน้ำโจ้โล้ วันนี้ มาตามรอยพระเจ้าตากกันต่ออีก 2 จุดสำคัญที่บางคล้า ที่ที่วัดโพธิ์ วัดปากน้ำโล้โจ้ และวัดอื่นๆ โดยรอบ

วัดทั้งสองมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ดังนี้

วัดโพธิ์ เคยเป็นค่ายของกองทัพพระเจ้าตาก ระหว่างการเดินทางไปรวมรวมไพล่พลที่จันทบุรีเพื่อกู้ชาติไทย (หลังจากตีฝ่าวงล้อมพม่าที่อยุธยา) โดยถัดวัดโพธิ์ไปทางเหนือที่อีกโค้งน้ำ จะเป็นที่ตั้งของกองทัพพม่า หรือในปัจจุบัน คือ ที่ตั้งวัดปากน้ำโจ้โล้

ในกาลนั้น พระเจ้าตากได้ใช้ยุทธตามตำราพิชัยสงคราม “ยิงตับ” ที่ให้ทหารขุดสนามเพลาะกำบังเพื่อซุ่มตั้งปืนใหญ่-น้อยบริเวณปากน้ำโจ้โล้ เมื่อทหารพม่ายกทัพมาบริเวณดังกล่าว ทหารพระองค์ ก็ยิงปืนกระหน่ำเข้าไปที่กองทัพพม่า ส่งผลให้หทารพม่าได้รับความสูญเสียและแตกพ่ายไป

ภายหลังที่พระองค์ได้กอบกู้เอกราชและตั้งกรุงธนบุรีได้แล้วนั้น ก็ได้สร้างพระวิหารที่วัดโพธิ์ และวัดปากน้ำโจ้โล้ พร้อมกับ พระสถูปเจีย์ที่ปากน้ำโจ้โล้ด้วย เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในการกู้อิสรภาพ ส่วนวัดแจ้งที่ตั้งใกล้กับวัดโพธิ์นั้น เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 เดินทางมาหยุดทัพรุ่งสางหลังจากกลับจากศึกเขมร จึงตั้งชื่อว่า วัดแจ้งตามวิธีการเรียกชื่อวัดแจ้ง (หรือวัดอรุณ) ที่ฝั่งธน กรุงเทพมหานคร ตามพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง

ด้วยเหตุผลทั้งหมด ทำให้วัดโพธิ์ วัดปากน้ำโจ้โล้ และ วัดแจ้ง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฉะเชิงเทรา ของลูกหลานชาวไทย

วัดโพธิ์ บางคล้า

วัดโพธิ์ กราบหลวงพ่อโตปางไสยาสน์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านต่างก็ไปขอพร หลวงพ่อโตตั้งอยู่ในวิหารเก่าสร้าง สมัยพระเจ้าตาก ศิลปะแบบเก๋งจีนจตุรมุข วิหารที่เราเห็นปัจจุบัน ได้รับบูรณะโดยผู้ศรัทธาพระเจ้าตากเมื่อปี 2541 หลังจากที่หลังคาพังตามกาลเวลา

ตามต้นไม้ใหญ่ของวัดโพธิ์ ยังเป็นบ้านของค้างคาวแม่ไก่ ตัวโต เจ้าหน้าที่วัดบอกว่าแต่ก่อนค้างคาวตัวโตกว่านี้มาก แต่ตอนนี้เล็กลงไปแล้ว ยืนมองความน่ารักของเจ้าค้างคาว ก็ต้องแลกกับการระมัดระวังในการหลบอีค้างคาวที่มาจากฟ้าและตามพื้นด้วยนะคะ 🙂 แนะนำว่าใส่หมวก และกลับบ้านล้างเท้าดีๆ

วัดปากน้ำโจ้โล้ บางคล้า

วัดปากน้ำโจ้โล้ วัดที่ทาสีทองอร่ามทั้งภายนอกและภายใน โดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ริมแม่น้ำบางประกง เข้าไปกราบหลวงพ่อโต พระประธานในอุโบสถ และเดินลอดฐานพระประธานที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ เพิ่มการสะเดาะเคราะห์ได้อีกด้วย

วัดแจ้ง บางคล้า

วัดแจ้ง นมัสการท้าวเวสสุวรรณที่มีความเอกลักษณ์ คือ ท่านมีสามขา! ที่จริงแล้ว วัดนี้ มีท้าวเวสสุวรรณประดิษฐานมานานแล้ว ต่อมา คืนนี้ ท่านมานิมิตให้ชาวบ้านคนหนึ่งให้สร้างท้าวเวสสุวรรณสามขา โดยขาที่สามหรือขากลางนั้น ให้เหยียบกล่องทรัพย์สิน หากผู้ใดที่เสื่อมใสมาทำบุญได้ทรัพย์ได้ทอง ประสบความสำเร็จ

ทั้งสามวัด มีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน เราสามารถเข้าไปกราบขอพร และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่กอบกู้ชาติไทย ให้คนไทยมีเอกราชจนมาถึงรุ่นเรา.

การเที่ยวบางคล้าครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นภารกิจจัดสรรมาให้เรา กล่าวเรื่องราวบูรพกษัตริย์ไทย พระเจ้าตากสิน โดยในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ เป็นวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงอยากชวนให้คนไทย ร่วมถวายสักการะพระองค์ด้วยกันค่ะ

Errorlloyd

Errorlloyd

เริ่มการท่องเที่ยวสะพายกล้อง มาตั้งแต่อายุ 29 ปี มิชชั่น คือ ทุกปีต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาเรื่องราว เข้าใจที่มาที่ไป รู้จักชีวิตหรือความคิดของคนต่างถิ่น ทุกสุดสัปดาห์ จะต้องเสาะหาสถานที่เที่ยวที่สามารถเดินทางได้ใน 1 วัน และทุกวันหลังเสร็จจากภารกิจงานและชีวิต มุ่งหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
Previous post บางคล้า แดนรบกับพม่าจุดสุดท้าย ของพระเจ้าตาก หลังเสียกรุงศรีฯ
Next post เที่ยวโบราณสถาน-วัดร้าง ย่านเมืองนนท์​ ตอนที่ 1 วัดสักน้อย บางกรวย