ช่วงโควิท-19 นี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนไทย ที่จะได้ไปเที่ยวแบบปลอดกลุ่มทัวร์ต่างประเทศ ในสถานที่ท่องเที่ยวดังระดับโลกในกรุงเทพฯ การเตรียมตัวไปก็ไม่ยาก เพียงตรวจสอบสภาพอากาศประจำวัน หาวันที่ฟ้าใสไร้ฝน และลา-หนีงานไปพร้อมกล้องถ่ายรูปกันเลย วันนี้พร้อมแล้ว aDayoff จะพาทุกคนไปเที่ยววัดพระแก้วและแนะนำมุมถ่ายภาพ พร้อมเรื่องราวสำคัญมาเล่าสู่กันฟัง
แนะนำมุมสวยที่ต้องบันทึก
1. ภาพมุมกว้างที่หน้าปราสาทพระเทพบิดร
2. แฝงตัวไปกับประติมากรรมครุฑยุดนาคที่ฐานปัทม์รอบพระอุโบสถ
3. กับอีกมุมกว้างที่ต้องเข้าคิวขึ้นถ่ายที่ขั้นบันไดทางขึ้นพระศรีรัตนเจดีย์
4. ถ่ายภาพคู่กับยักษ์ดีใจจากเรื่องรามเกียรติ์
5. ปล่อยใจให้หลุดลอยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียง
6. เดินชมพระวิหารยอด
7. เก็บภาพยักษ์ และขุนกระบี่ ที่พระสุวรรณเจดีย์
8. ชมความอลังการของสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานตะวันตกที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
9. ถ่ายภาพหมู่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
10. เก็บตกศิลปกรรมรัตนโกสินทร์เข้าอัลบั้มภาพ
มารู้จักวัดพระแก้วกันก่อน
วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว สร้างในรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2325 ตั้งอยู่ในกำแพงพระบรมมหาราชวัง ถือว่าเป็นประเพณีการสร้างวัดในเขตพระราชวังหลวงที่สืบต่อกันมา เฉกเช่นเดียวกับ การสร้างวัดมหาธาตุในเขตพระราชวังหลวงยุคกรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญในเขตพระราชวังหลวงยุคกรุงศรีอยุธยา
เนื่องจากพระบรมมหาราชวัง เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ และยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ของมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตลอดจนรับรองพระราชอาคันตุกะ ทำให้วัดพระแก้วถูกจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นพิเศษไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี
รู้จักวัดพระแก้วแล้ว ต่อไปเริ่มค้นหา 10 มุมสวย ที่ต้องบันทึกกันเลย
1. ภาพมุมกว้างที่หน้าปราสาทพระเทพบิดร
ปราสาทนี้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่ด้วยพื้นที่ภายในเล็ก ทำให้ไม่สะดวกต่อการประกอบพระราชพิธี ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1-9 และเปิดให้เราเข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปในวันจักรี และวันสำคัญอื่นของประเทศ เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันฉัตรมงคล วันปิยะมหาราช และวันชาติ และวันอื่นๆ ตามการประกาศเพิ่มเติมจากพระบรมมหาราชวัง
ความงดงามของปราสาทพระเทพบิดร ใช่แค่เพียงสถาปัตยกรรมแบบจัตุรมุขที่มีผังเป็นรูปกากบาทและหน้าจั่วหันออกทั้ง ๔ ทิศ แต่ยังมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยหลังคายกยอดทรงพระปรางค์
มุมแรก เราสามารถถ่ายภาพจากหน้าปราสาท จัดภาพให้พื้นหลังเป็นปราสาทพระเทพบิดร ตั้งตระหง่านเมื่อมองจากพื้นด้านล่าง เลนส์ที่เหมาะสมคือเลนส์ Wide Angle เท่านั้น เพื่อที่จะเก็บภาพของปราสาทและพระสุวรรณเจดีย์ทั้งสองข้างได้ครบ
มุมสอง ให้นางแบบไปบริเวณด้านหน้าและใช้เลนส์ซูมขึ้นไป และใส่เนื้อหาในภาพให้ดูธรรมชาติด้วยการจับจังหวะที่นางแบบพูดคุยกัน
2. แฝงตัวไปกับประติมากรรมครุฑยุดนาคที่ฐานปัทม์รอบพระอุโบสถ
ประติมากรรมลอยตัวครุฑยุดนาคจำนวน 112 รูป ที่ฐานปัทม์ของพระอุโบสถ ในวัดพระแก้ว เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเยือนวัดพระแก้ว ครุฑยุดนาคเป็นพุทธศิลป์ ที่เล่าตำนานศึกสายเลือดของพี่น้องร่วมพระราชบิดาพระกัศยปเทพบิดร โดยพญาครุฑมีพระมารดา คือ นางวินตา และพญานาค มีพระมารดา คือ นางกัทรุ นางวินตาและนางกัทรุเป็นพี่น้องกัน ความบาดหมางเกิดเพราะนางวินตาเกิดความริษยา ขอพระกัศยปเทพบิดรให้ลูกตนกินพวกนาค
ครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองสำริด มีความเงาวาวและให้แสงเงาได้ดีในช่วงแสงแทยงตอนเช้า ทำให้เห็นความชัดลึกคมและเกิดคอนทราส (Contrast) แต่ด้วยความสวยงามทำให้การถ่ายกับบุคคลไม่ง่ายตาม
วันนี้ เราทดลองถ่ายซูมในระยะปานกลางโดยตั้ง Aparture หรือความชัดลึกที่ตัวเลขเยอะๆ เพื่อทำให้ Background ยังคงคมชัดไม่เบลอ และให้นางแบบหันหน้าไปรับแสงแทยง เทคนิคเล็กๆ น้อย คือ การหันหน้านางแบบไปทิศเดียวกับหน้าของครุฑเพื่อสร้างความกลมกลืน
จุดที่ต้องระวัง คือ การหลบเงาดำจากเสาอุโบสถ ไม่ให้บังหน้า แต่ถ้าลองเล่นกับเงาดำ ก็จะทำให้เกิดภาพที่น่าสนใจอีกแบบ
สิ่งที่ไม่ควรพลาด คือ เมื่อเดินชมรอบอุโบสถ และเข้ากราบสักการะพระแก้วมรกตเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราสามารถซูมถ่ายภาพภายในพระอุโบสถได้ แต่ต้องยืนจากด้านนอกเท่านั้น ดังนั้นการเก็บภาพสำคัญนี้ จะต้องนำกล้องที่มีเลนส์ซูมประมาณ 200 มม. ผนวกกับตั้ง ISO สูงๆ เพื่อเก็บภาพภายใน เราไม่แนะนำให้นำภาพที่ได้มาเผยแพร่เพื่อการค้า
3. กับอีกมุมกว้างที่ต้องเข้าคิวขึ้นถ่ายที่ขั้นบันไดทางขึ้นพระศรีรัตนเจดีย์
พระศรีรัตนเจดีย์ คือ เจดีย์สีทองทรงลังกาที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดพระแก้วที่พวกเราเห็นจากสนามหลวง เจดีย์นี้สร้างในรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจดีย์นี้มีสีขาว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการตกแต่งกระเบื้องโมเสกสีทองที่ทำจากทองคำเปลวเพิ่มเติม
ภาพมุมสำคัญนี้ แนะนำให้ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง เพื่อเก็บนางแบบและเจดีย์ให้ครบทั้งองค์ได้สมบูรณ์ จุดถ่ายภาพนี้ อนุญาตให้ถ่ายทีละคน และมีป้ายกำกับให้ยืนถ่ายภาพอย่างชัดเจน ไม่อนุญาตให้ย้ายป้ายได้ เราจึงต้องยืนหน้าป้ายเพื่อปังป้ายนั่นเอง
4. ถ่ายภาพคู่กับยักษ์ดีใจจากเรื่องรามเกียรติ์
ประติกรรมลอยตัวขนาดใหญ่ ที่เป็นจุดเด่นรอบวัดพระแก้ว คือ เหล่ายักษ์ทวารบาล ที่มีสีสันแตกต่างกัน และเป็นตัวละครสำคัญในวรรณคดีรามเกียรติ์ ยักษ์ในวัดพระแก้วมีจำนวน 12 ตน โดยประจำอยู่ที่ 6 ประตูหลัก ประตูละคู่
เราลองหาวิธีถ่ายภาพคู่กับยักษ์ โดยให้นางแบบขึ้นไปยืนข้างพระศรีรัตนเจดีย์ ทำให้ภาพในภาพคนและยักษ์อยู่ในเฟรมเดียวกันลงตัว นอกจากนี้ยังแนะนำให้ตั้ง Aparture หรือความชัดลึกที่ตัวเลขเยอะ เพื่อทำให้รายละเอียดยักษ์ยังคงคมชัดไม่เบลอ
5. ปล่อยใจให้หลุดลอยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียง
จิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงเขียนเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ มีจำนวน 178 ห้องภาพ และเขียนด้วยสีฝุ่นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และมีการเขียนเพิ่มเติมจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7
ห้องภาพที่ห้ามพลาดชม คือ ห้องที่ 53 คือ ภาพจากเรื่องรามเกียรติ์ตอนหนุมานอาสาอมพลับพลาพระราม และมัยราพณ์สะกดทัพ มีความงดงามด้วยภาพวาดหนุมานสีขาวขนาดใหญ่ พร้อมรายละเอียดการเขียนลายไทยไว้อย่างครบถ้วน ผลงานนี้ เขียนโดยนายสง่า มะยุระ ปี พ.ศ. 2473 และเขียนซ่อมเมื่อปี พ.ศ. 2517 โดย นายโหมด ว่องสวัสดิ์
เทคนิคการถ่ายกับจิตรกรรมอีกแบบ คือ การเลือกภาพที่มีสีโทนเดียวกับเสื้อผ้าเรา และ เลือกมุมที่แสงเข้าด้านข้างและหันหน้ารับแสงในอาการสำรวม
หรือเดินลอดซุ้มภาพจิตรกรรมฝาผนังพร้อมฉากหลังทอดยาวเป็นพระระเบียงให้เกิดมิติของภาพ
6. เดินชมพระวิหารยอด
พระวิหารยอด อยู่ที่พื้นราบด้านหลังพระมณฑป เป็นวิหารที่มียอดทรงมงกุฎประดับกระเบื้องเคลือบลายดอกไม้ พระวิหารยอดที่เราเห็นในปัจจุบัน เป็นองค์ที่ 2 ที่สร้างในรัชกาลที่ 3 แทนพระวิหารเดิมมีสีขาวที่สร้างมาแต่รัชกาลที่ 1 ภายในมีพระพุทธรูปสำคัญของประเทศ พระวิหารยอดเคยเป็นที่ประดิษฐานพระเทพบิดรที่อัญเชิญมาจากพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะย้ายไปประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระแก้ว
การถ่ายภาพในมุมนี้ แนะนำให้ใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้จับภาพวิหารได้ครบ เพราะพื้นที่จำกัด
7. เก็บภาพยักษ์ และขุนกระบี่ ที่พระสุวรรณเจดีย์
พระสุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งขนาบหน้าปราสาทพระเทพบิดร สร้างโดยรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างเพื่ออุทิศถวายพระราชบิดา-มารดา ความงดงามอยู่ที่มีพญายักษ์ และขุนกระบี่ รายล้อมที่ฐานเจดีย์ จำนวน 20 ตน มีสีสันสดใสตัดกับสีเจดีย์สีทองอร่าม การถ่ายภาพวันนี้ เรา Crop หรือซูมเข้าไปที่ยักษ์ในมุมต่างๆ ให้ตัดกับฉากสถาปัตยกรรมมุมอื่นๆ
8. ชมความอลังการของสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานตะวันตกที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เมื่อเที่ยววัดพระแก้วจนครบถ้วนแล้ว ออกจากวัดจะพบกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พระที่นั่งฯ ออกแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก แต่ยกยอดพระที่นั่งเป็นหลังคาแบบปราสาทตามแบบสถาปัตยกรรมไทยจำนวน 3 องค์ อันได้รับแนวคิดมาจากพระที่นั่งสรรเพชญในสมัยอยุธยา
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นสถานที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะของพระมหากษัตริย์ และที่ยอดพระมหาปราสาท เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากนี้ ภายในอาคาร ยังมีพิพิธภัณฑ์เครื่องศาสตราวุธโบราณอีกด้วย
จุดถ่ายภาพนี้ แนะนำว่ามาช่วงบ่าย เพื่อให้แสงลงด้านหน้าตึก ไม่ควรไปยืนรบกวนการทำงานของทหารองค์รักษ์ และไม่ควรถ่ายภาพของทหารองค์รักษ์ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล
9. ถ่ายภาพหมู่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนี้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพระที่นั่งทรงจัตุรมุข ถอดแบบมาจากพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ กรุงศรีอยุธยา พวกเราในยุคสมัยปัจจุบัน จะคุ้นเคยกับชื่อพระที่นั่งนี้ และบางท่านอาจจะได้เข้าไปภายในกันบ้าง เพื่อถวายบังคมพระบรมศพของรัชกาลที่ 9
ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมภายนอกที่ควรสังเกตุมีอยู่หลายจุด เช่น หางหงส์แบบนาคเบือน รูปครุฑยุดนาคขนาดใหญ่ หน้าบันรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ
ที่หน้าพระที่นั่ง มีมุมสวยสำหรับการถ่ายภาพหมู่ และเหมาะกับการถ่ายภาพในช่วงบ่ายเพื่อให้พระที่นั่งรับแสงตรงและหน้าคนจะไม่มืดด้วย การถ่ายภาพต้องตั้งเลนส์มุมกว้าง เพื่อให้เก็บภาพได้ครบ และแนะนำให้ตั้งกล้องที่พื้นและเชยกล้องขึ้น
10. เก็บตกศิลปกรรมรัตนโกสินทร์
หากเดินถ่ายภาพมุมกว้าง หรือ ถ่ายภาพกับเพื่อนๆ เสร็จแล้ว เราขอแนะนำเดินกลับเข้าไปในรอบวัดอีกรอบ พร้อมกล้องที่ติดเลนส์ซูม เพื่อซูมมองหามุมสวยๆ หรือเก็บภาพศิลปะไทยยุครัตนโกสินทร์ มาดูชิว่าวันนี้ เราเก็บตกภาพเพิ่มเติมอะไรได้บ้าง
อยากมาถ่ายภาพสวย ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
- การมาเที่ยววัดพระแก้ว จะต้องแต่งกายสุภาพเท่านั้น กางเกงยาว กระโปรงยาว ไม่รัดรูป หากสวมใส่กางเกงยีนส์มา ผ้าไม่ขาดรุ่งริ่ง
- สีเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพนั้น คือ สีอ่อนหรือสีสว่าง ไม่แนะนำสีทีบ ส่วนสไตส์เสื้อผ้ามี 3 ประเภท คือ ชุดไทยยุครัตนโกสินทร์ เสื้อผ้าร่วมสมัยสไตล์กับกระโปรงทรงผ้าถุงลายวินเทจเก๋ๆ หรือ ถ้าชอบความสบายๆ ก็ใส่เดรสแนวโบฮีเบียนพริ้วๆ ได้
- ก่อนมาส่องกระจก ฝึกโพสต์ท่าในกริยาที่สำรวม หรือหามุมทีเผลอสวยๆ ของเราขณะชมความงดงามของศิลปกรรมในวัด
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพในวันแสงแดดแรงๆ คือ ช่วง 8.30-10.00 น. สามารถถ่ายภาพบุคคลและจัดนายแบบนางแบบถ่ายภาพกับสถาปัตยกรรมที่มีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีฟ้าจัดได้ หากไปวันที่ฟ้ามีเมฆทึบ ก็สามารถถ่ายกลางแจ้งภาพบุคคลไปได้ถึง 11 โมง
- วัดพระแก้วและบริเวณพระบรมมหาราชวังเปิดให้ชมฟรีสำหรับคนไทยทุกวัน ตั้งแต่ 8.30 น. ถึง 15.30 น. เตรียมพร้อมเผื่อเวลาเดินทางไปขับกันดีๆ สถานที่ต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังอาจจะมีปิดบางส่วน หรือเปิดเพิ่มเติมในวันพิเศษ ดูรายละเอียดได้ในหมวดปฏิทินในเว็บไซต์ www.royalgrandpalace.th
วันนี้ ภาพที่เราเก็บมาฝากเป็นส่วนเล็กๆ เท่านั้น วัดพระแก้วยังมีอีกหลายๆ มุมให้ค้นหา ให้พินิจชมและศึกษาศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์อีกมาก และการเก็บภาพวันนี้ จะเป็นการเก็บภาพในครึ่งเช้าเท่านั้น ซึ่งเรามั่นใจว่ามุมมองและแสงในยามบ่ายและฤดูกาลอื่นๆ จะมีสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก
สำหรับวันนี้ ขอลากลับบ้าน แต่มีสัญญาใจว่าจะกลับไปเที่ยววัดพระแก้วอีกแน่นอน
ภายในพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ค่าเข้า 150 บาท โดยบัตรยังสามารถแสดงเพื่อเข้าชมชมโขน ณ โรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง และ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ณ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (บัตรนี้มีอายุ 7 วัน โดยนับจากวันที่ซื้อบัตร)
📍ที่ตั้ง
ถนน หน้าพระลาน แขวง พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Google map location: https://goo.gl/maps/dqNEseqEjUKmd8yT6
💳ค่าเข้า
คนไทยเข้าฟรี นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนละ 500 บาท
🚘การเดินทาง
- รถยนต์ส่วนตัว จอดที่ท่ามหาราช วัดมหาธาตุ ราชนาวีสโมสร ค่าจอดอยู่ที่ชั่วโมงละ 20-40 บาทแล้วแต่สถานที่
- รถเมล์ที่ผ่านวัดพระแก้วมีหลายสาย ตรวจสอบสายรถเมล์ได้ที่นี่
- ไป BTS ต่อเรือ ลง BTS สถานีสะพานตากสิน และต่อเรือไปท่าเตียน หรือท่ามหาราช
📆เปิดทำการ
ทุกวัน 8.30 น. – 15.30 น.
แหล่งข้อมูล
1. www.royalgrandpalace.th
2. https://sites.google.com/site/ar3165216680461/home/1-meaning?tmpl=%2Fsystem%2Fapp%2Ftemplates%2Fprint%2F&showPrintDialog=1
3. https://lifestyle.campus-star.com/scoop/183324.html
4. https://www.silpa-mag.com/history/article_12192
5. https://www.silpa-mag.com/history/article_12518