ยามเที่ยงวันหนึ่ง แอบมา aDayoff ในวันทำงานกับสองสาว “บุ๊คกี้ และเต” หาอาหารเที่ยงกินกัน น้องๆ บอกอยากกินอะไรเร็วๆ อร่อยๆ แต่ในราคาสตรีทฟู้ด เราก็บอกว่าไป “ไปหอศิลป์กัน” น้องๆ มองหน้างง แล้วถามว่า “ไปทำไมอ่ะ ไม่ว่างไปดูงานศิลปะนะ หิวแล้วอย่าพูดเล่นดิ” เราบอกว่า ใครบอกว่าจะไดูงานศิลปะล่ะจ้ะ เราจะไปกินบะหมี่เกี้ยวกุ้งยักษ์รสเทพกันต่างหาก
กินบะหมี่เกี้ยวกุ้ง หมูแดงเทพราคาสตรีทฟู้ด
บะหมี่เกี้ยวหอศิลป์กรุงเทพ ที่เรียกขานกันนั้น มีชื่อร้านต้นตำรับว่า บะหมี่ปู๊ตี่เกี้ยวกุ้ง เปิดขายที่หอศิลป์มาหลายปีแล้ว เมนูเลื่องชื่อ คือ บะหมี่เกี้ยวกุ้ง หมูแดง เกี้ยวกุ้งตัวโตๆ มีส่วนผสมของกุ้งเต็มๆ คำ กัดไปคำแรกแล้วซะใจ หมูแดงอบเตาถ่าน นุ่มรสหอมถ่าน กินกับเส้นบะหมี่ที่ทางร้านทำเองเด้งๆ นุ่มๆ หนึบพอดี
กินบะหมี่แห่งตำนาน เคล้าบรรยากาศแบบอาร์ต
อันที่จริงแล้ว บะหมี่ปู๊ตี่ เปิดขายในหลายชุมชนในกรุงเทพฯ แต่ทว่าร้านบะหมี่ปู๊ตี่ที่หอศิลป์ฯ มีความพิเศษกว่าสาขาอื่นๆ
พี่กุ้งเล่าว่า พี่โกะ ชุมพล อักพันธานนท์ เจ้าของ “บ้านศิลปิน” แห่งคลองบางหลวง เจ้าของห้องคูหาแห่งนี้ เป็นผู้ดำริทำร้านอาหารในบรรยากาศบ้านศิลปินโดยมาถ่ายทอด ณ หอศิลป์แห่งนี้ การตกแต่งภายในจึงสร้างบรรยากาศคูหาตลาดเก่าริมน้ำ โดยออกแบบด้วยโครงสร้างและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ประดับผนังด้วยงานพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 ที่เป็นผลงานของพี่โกะเองด้วยช่วยกัน
ใส่ใจให้ความสำคัญกับลูกค้าผู้มาเยือน เหมือนญาติมิตร
ขณะนั้น กินบะหมี่ เราก็มองไปเห็นสมุดเล่มหนึ่งตั้งอยู่ ที่โต๊ะข้างที่นั่ง เราหยิบมาดู คือ Guest Book ที่เปิดให้ผู้มาเยือน เขียนถึงความประทับใจที่มากินที่ร้าน. สิ่งที่น่าสนใจ คือ คำที่เขียนจากใจของลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เขียนถึงร้าน นอกจากคำเขียนแล้ว ยังมีการภาพวาดบ่งบองว่า ผู้มาเยือนเป็นศิลปินที่มาหอศิลป์ไม่ว่าจะมาเพื่อชม หรือแสดงผลงาน
สืบตำนานบะหมี่เกี๊ยวปู๊ตี่ บุกไปถึงสาขาต้นตำรับ
ด้วยความสงสัยใคร่รู้ เราจึงสอบถามคนขาย พี่วอน และ พี่กุ้ง ว่า ร้านบะหมี่แสนอร่อยนี้ มีความเป็นมาอย่างไร พี่กุ้งเล่าว่าร้านบะหมี่ปู๊ตี่ต้นตำรับอยู่แถวหลังวัดหัวลำโพง เปิดขายมานาน และขายอาหารหลากหลายว่าที่หอศิลป์ โดยในช่วงวันหยุดสัปดาห์ เราจึงบุกตะลุยไปหาความจริงที่ร้านต้นตำรับ
ร้านปู๊ตี่ต้นตำรับ เปิดให้บริการใน ซอยหน้าวัดหัวลำโพง หลังที่จอดรถ MRT สามารถจอดรถที่ลานจอด MRT ค่าบริการอาจจะแพงไปสักหน่อยแต่ก็สะดวกดี จะประหยัดงานแผนดีๆ ถ้าใช้บริการ MRT ก็จอดฟรี หรือไปจอดวัดหัวลำโพงแวะทำบุญ ค่าจอดจะประหยัดกว่า
ที่สาขานี้ อาม่าเปง ต้อนรับแขกด้วยตนเอง อาม่าเล่าว่า คำว่าปู๊ตี่ แปลว่า “รวย” เราคิดไปว่าอ๋อ… ความตั้งใจน่าจะประมาณว่า “บะหมี่ร้านนี้ กินแล้วรวยทั้งคนขายคนกิน”
จากนั้น อาม่า ชวนคุยยาว เล่าถึงประวัติร้านว่าเดิมร้านอยู่ริมถนนพระราม 4 (ประมาณการโดยผู้เขียนเองว่าร้านนี้ ต้องมีอายุกว่า 30 ปี) แต่ต้องย้ายเข้ามาข้างในซอย เพราะมีการสร้างคอนโดด้านหน้า จากนั้น ลูกๆ โต จึงแยกย้ายกันไปทำกิจการร้านอาหารต่างๆ กัน โดยลูกชายยังทำกิจการด้านขายอาหาร ชื่อ เลี่ยวเลี่ยงเซ้ง อยู่แถวหัวลำโพง ส่วนลูกสาวคงสืบสานเจตนารมย์อาม่าดำเนินการกิจการขายบะหมี่เกี้ยวปู๊ตี่ ไปยังสาขาต่างๆ โดยโรงครัวที่ทำบะหมี่ หมูแดง และ เกี๊ยวอยู่ที่สาขาต้นตำรับหลังวัดหัวลำโพงนี้
รู้จักร้านปู๊ตี่ต้นตำรับกันแล้ว ขอพาย้อนกลับมาที่หอศิลป์กันต่อ
ท้องอิ่มแล้ว ก็ได้เวลาชำระเงิน เรา บุ๊คกี้ และ เต กินบะหมี่เกี้ยวและเกี๊ยวน้ำไป รวม 4 ชาม จ่ายไปไม่เกิน 300 บาท นับว่าตรงเป้าหมายการกินของวันนั้น จากนั้น ก็ถึงเวลาที่เราต้องกลับไปทำงานรอบบ่าย แต่ก่อนออกจากร้านก็ไม่วายหยุดช้อปปิ้งงานศิลปะน่ารักจากศิลปินที่มาฝากขายงานในร้าน จากนั้น ก็เตรียมมุ่งหน้าเดินกลับไปที่ทำงานของพวกเรา
นับว่าเป็นมื้อเที่ยงอิ่มอร่อย แถมยังได้พักผ่อนถ่ายรูปชิลๆ ผ่อนคลายความเครียดจากงานในเวลากลางวัน ในช่วงกลางสัปดาห์ที่วุ่นวายใกล้ปลายปี
ที่ตั้ง
ปู๊ตี่บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง ชั้น 2 อาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนน พระราม 1 ปทุมวัน กรุงเทพ (Google Location : https://goo.gl/maps/vAt9fFEs2tg6YSN67)