THE HERITAGE MEETS CONTEMPORARY ARTS เมื่องานอาร์ตร่วมสมัย โผล่ใจกลางวัดโพธิ์ กรุงเทพฯ

ในช่วงบ่ายคล้อยปลายสัปดาห์ก่อน เราขับผ่านย่านท่าเตียน พอถึงวัดโพธิ์ เห็นว่าสภาพจราจรโล่ง จึงลองขับรถเข้าไปที่จอดรถข้างวัด โดยผ่านมาย่านนี้หลายครั้งแล้ว แต่ไม่สามารถจอดรถได้ ทำให้ไม่ได้เข้าไปเที่ยววัดกันเสียที วันนี้ พอเลี้ยวเข้าไป หวังเพียงว่าจะที่จอดสักคัน และแล้ว โชคเป็นของเรา มาเจอที่จอดรถที่หน้าทางเข้าประตูวัดพอดี ทำให้ได้มาไหว้พระสมประสงค์ดังใจ และยังได้พบความน่าสนใจต่างๆ ที่ไม่น่าเชื่อ เพราะวันนี้ ถึงวันที่ 31 ม.ค. 64 วัดโพธิ์ถูกเลือกเป็นจุดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินระดับโลกในโครงการ Bangkok Art Biennale 2020 (BAB 2020)  อีกด้วย

วัดโพธิ์บรรยากาศยามบ่ายวันนี้

ความน่าสนใจห้ามพลาดชมเมื่อมาเที่ยววัดโพธิ์ 

  1. ชมงานศิลปะที่โผล่ขึ้นมาในศาลาการเปรียญ และภายในวิหารทิศตะวันตก  
  2. สักการะพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และพระพุทธปฏิมาที่พระวิหารทิศ
  3. กราบพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ที่พระอุโบสถ 
  4. ชมความวิจิตรบรรจงของพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล 
  5. รู้จักยักษ์วัดโพธิ์แห่งท่าเตียน ที่ทางเข้ารั้วพระมณฑป
  6. เดินเมื่อยเพราะเดินชมวัดหลายชั่วโมง มาลองศึกษาท่ายืดเส้นจากฤาษีดัดตน และตำรานวดแผนโบราณ 

รู้จักวัดโพธิ์ 

วัดโพธิ์ เป็นชื่อเรียกติดปากของคนไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลก มีชื่อเป็นทางการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดโพธาราม ได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ 1 เพราะวัดโพธารามเป็นหนึ่งในวัดเก่าที่ขนาบพระบรมมหาราชวังด้านทิศใต้ (ส่วนวัดที่ขนาบทางด้านทิศเหนือ คือ วัดสลัก หรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) เมื่อสถาปนาเสร็จ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และใช้ชื่อนี้กันมาถึงทุกวันนี้ 

มุมสวยในวัดโพธิ์ถ่ายจากระเบียงศาลาการเปรียญ

ชมงานศิลปะที่โผล่ขึ้นมาในศาลาการเปรียญ และภายในวิหารทิศตะวันตก 

ความพิเศษของการเที่ยววัดโพธิ์ในช่วงนี้ นอกเหนือจากการมาไหว้พระทำบุญตามปกติ คือ การมาเที่ยวชมงานศิลปะจาก Bangkok Art Biennale 2020 (BAB 2020) เพราะวัดโพธิ์เป็นหนึ่งในสถานที่จัดงานแสดงศิลปะของศิลปิน 2 คน จากทั้งหมดร่วม 20 คน ณ สถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพ

งานศิลปะชิ้นแรก ที่ต้องทำให้เราตะลึง คือ การงานผลประติมากรรมชื่อ Push, Pull II ของ Anish Kapoor (อนิซ คาพัวร์) ศิลปินจากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เพราะเรานึกไม่ถึงว่าจะมีแท่งวงกลมทะลุพื้นศาลาการเปรียญเข้ามาให้เราชม

อีกสิ่งที่ควรรู้ว่าเกี่ยวกับการแสดงผลงาน Push, Pull II ของ Anish Kapoor นี้ คือ ศิลปินลงทุนติดแอร์ และติดกระจกใสที่หน้าต่างทุกบาน เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในศาลา เพื่อทำให้รูปทรงของประติมากรรมที่ทำจากขี้ผึ้งไม่ละลาย

งานศิลปะชิ้นนี้หล่อจากขึ้ผึ้งสีแดงอบเชย รูปทรงครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ สูง 5 เมตร x กว้าง 8 เมตร x หนา 1 เมตร (รวมโครงวัสดุประกอบโดยรอบที่ยึดติด) ตั้งกระหง่านตรงหน้าพระประธานในศาลาเปรียญ คือ พุทธศาสดา  ผลงานชิ้นนี้ Anish ต้องการถ่ายทอดเรื่องแรงโน้มถ่วง ที่ผสมผสานสวรรค์และจักรวาล กับพุทธศาสนา เราสามารถอ่านรายละเอียดของการสร้างผลงานชิ้นงานศิลปะที่ป้ายในศาลา หรือ สอบถามเจ้าหน้าที่

พระพุทธศาสดา ที่ประดิษฐานในศาลาการเปรียญ เคยพระประธานในพระอุโบสถวัดโพธาราม (ชื่อเดิมของวัดโพธิ์) ก่อนได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ 1

งานศิลปะชิ้นสอง อยู่ในวิหารทิศตะวันตก งานศิลปะชิ้นนี้ จะให้ความรู้สึกตรงข้ามกับงานชิ้นแรก คือ จากความรู้สึกตะลึง กลับกลายเป็นความสงบที่กลมกลืน

Invisible World เป็นผลงานของศิลปินไทย ชื่อ อัฐพร นิมมสัยแก้ว ประเภทศิลปะ 3 มิติ ที่ศิลปินวาดภาพนักพรตบนชั้นผ้าตาข่ายสีดำ ในรูปนั่งสมาธิต่อหน้าพระพุทธชินศรีปางนาคปรกพระประธานในวิหารทิศ ชั้นตาข่ายถูกวางเรียงกันจนทำให้เป็นมิติ และรู้สึกว่าภาพนักพรตมีชีวิต เพราะลมจากพัดลมอ่อนโชยตามผ้าตาข่าย

ประตูทางเข้าพระวิหารทิศตะวันตก

 

เมื่อชมงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปิน Bangkok Art Biennale 2020 เสร็จแล้ว ก็ได้เวลาชมความมรดกของชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย

สักการะพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และกราบพระพุทธปฏิมาในพระวิหารทิศ 

พระนอนวัดโพธิ์ ตั้งอยู่ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ องค์พระมีความยาว 46 เมตร ถูกจัดว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และเป็นอันดับ 4 ในประเทศ กิจกรรมที่พึงทำ นอกเหนือจากการกราบสักการะพระนอน เราแนะนำให้ใช้เวลาชมศิลปะภายในพระวิหาร ประกอบไปด้วยการชมจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องมหาวงศ์หรือพงศาวดารพระพุทธศาสนาในทวีปลังกา และเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ชมลายรดน้ำลายที่บานประตู และบานหน้าต่างที่วิจิตรบรรจงอีกด้วย

พระนอนในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3
จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหาร
ช่างศิลป์ไทย กำลังบูรณะภาพเขียนที่มีอายุหลาย 100 ปี เพื่อให้คนไทยรุ่นหลังได้ชมกันต่อไป
ก่อน (ซ้าย) และหลัง (ขวา) การบูรณะ
ลายรดน้ำที่บานหน้าต่าง
รอยพระพุทธบาทประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ ภาพถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ภาพมงคลโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์  ภาพเครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์  และภาพส่วนประกอบพระภูมิในจักรวาลตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา 
ซูมรอยพระพุทธบาทประดับมุก
ชมใบลานโบราณ

เมื่อไหว้พระนอนแล้ว เราขอพาทุกคนไปไหว้พระพุทธปฏิมากร 5 องค์ ที่ประดิษฐานในพระวิหารทิศทั้ง 4 รอบพระระเบียงพระอุโบสถ โดยอาจจะเริ่มสักการะพระพุทธปฏิมากรที่มุขหน้าของวิหารทิตะวันตก และเดินต่อเนื่องไปยังทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ เมื่อสักการะครบทั้ง 4 องค์แล้ว ก็เดินผ่านพระระเบียงไปลานพระอุโบสถ ไปที่มุกหลังของพระวิหารทิศใต้อีกครั้ง เพราะจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาองค์ที่ 5

มุขหน้า พระวิหารทิศนาคปรก หรือทิศตะวันตก 
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินศรี  พระพุทธรูปปางนาคปรก อัญเชิญมาจากจังหวัดลพบุรี 
มุขหน้า พระวิหารทิศป่าเลไลย หรือทิศเหนือ
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปาลิไลย ปางป่าเลไลยก์ หล่อขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1 
มุขหน้า พระวิหารทิศปัญจวัคคีย์ หรือทิศใต้
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระพุทธชินราชปางปฐมเทศนาสมัยอยุธยา อัญเชิญมาจากจังหวัดอยุธยา 
มุขหลัง พระวิหารทิศพระโลกนาถ หรือทิศตะวันออก
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธโลกนาถศาสดาจารย์ พระพุทธรูปยืน สูง 10 เมตร หล่อด้วยสำริด
อัญเชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดอยุธยา  
ทั้งนี้ ที่มุขหน้า พระวิหารทิศตะวันออก
จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่วันที่เราไปเที่ยววัดโพธิ์นั้น มุกหน้าไม่เปิดให้เข้าสักการะ 
โขลนทวาร คือ ซุ้มประตูหิน หรือ ซุ้มประตูสิริมงคล ตั้งด้านหน้าของมุขหลัง พระวิหารทิศตะวันออก
เล่าเรื่อง ห้องสิน หนึ่งในวรรณกรรมเรื่องเทพเจ้าของจีน

กราบพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ที่พระอุโบสถ 

ในพระอุโบสถวัดโพธิ์แห่งนี้ นับว่าเป็นสถานที่สำคัญทั้งทางพุทธศาสนสถานและประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะเป็นที่สักการะพระพุทธเทวปฏิมากร ปางสมาธิ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ที่ชั้น 1 ของฐานชุกชีของพระพุทธเทวปฏิมากรอึกด้วย เราขอชวนคนไทยมากราบไหว้พระบรมอัฐิ เพื่อรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 1 ที่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้พวกเราชาวไทย ได้มีบ้านเมือง ที่ดินทำกิน และประเทศชาติจนมาถึงทุกวันนี้ 

พระอุโบสถวัดโพธิ์สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ถ่ายยามใกล้อาทิตย์อัสดง และท่ามกลางหมู่เมฆฝน
ฐานชุกชีของพระพุทธเทวปฏิมากรมี 3 ชั้น
ชั้น 1 (บนสุด) บรรจุพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1
ชั้น 2 ประดิษฐานรูปพระอัครสาวก
ชั้น 3 (ชั้นล่างสุด)​ประดิษฐาน พระมหาสาวก 8 องค์ หรือ พระอรหันต์ 8 ทิศ
พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถวัดโพธิ์องค์นี้
เดิมประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดคูหาสวรรค์ (ชื่อเดิมศาลาสี่หน้า)
จิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถเขียน เรื่อง มโหสถบัณฑิต เมืองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช  และพระสาวกเอตทัคคะ 41 องค์ เป็นต้น ทางวัดไม่อนุญาตให้เดินรอบกำแพงพระอุโบสถด้านใน เพราะเป็นเขตของสงฆ์
พระระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถ มีอยู่ 2 ชั้น ทั้งสองชั้นเชื่อมต่อด้วยพระวิหารทิศ ที่พระระเบียงประดิษฐานพระพุทธรูปมากกว่า 350 องค์ (รวม 2 ชั้น) จากยุคสุโขทัย เชียงแสน ลพบุรี อู่ทอง และอยุธยา ทำให้เราสามารถศึกษาพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ได้ที่พระระเบียง นอกจากนี้ เรายังสามารถอ่านจารึกเพลงยาว ตำราฉันท์ในกรอบหิน จำนวนร่วม 100 แผ่น 

ชมความวิจิตรบรรจงของพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล 

กลุ่มพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล อยู่ในรั้วกำแพงสีขาวข้างศาลาการเปรียญ  ความน่าสนใจในบริเวณนี้ คือ การชมความวิจิตรบรรจงของงานสถาปัตยกรรมไทย ได้แก่  เจดีย์ย่อไม้สิบสอง ที่ตั้งหง่านหลากสีตั้งแต่ สีเขียว ขาว เหลือง และน้ำเงินเข้ม พร้อมการประดับประดับลวดลายกระเบื้องเคลือบอย่างสวยงาม คล้ายกับงานสถาปัตยกรรมที่วัดอรุณ จุดเด่นอื่นที่ชวนชม คือ ซุ้มประตูศิลปะแบบจีน ประดับเป็นยอดไม้ด้วยกระเบื้องเคลือบวิจิตรบรรจง 

ภาพนี้ ถ่ายจากนอกรั้วกลุ่มพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล ที่หนัาลานพระวิหารพระพุทธไสยาสน์
จะสามารถเก็บภาพมหาเจดีย์ทั้ง 4 องค์ได้ครบ
พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ พระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 1 (ในภาพองค์กลาง) สร้างโดยรัชกาลที่ 1 ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ภายในบรรจุพระบรมธาตุ และครอบบพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง 16 เมตร

พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน พระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 2 (ในภาพองค์ซ้ายไกลสุด) สร้างโดยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชอุทิศถวายให้รัชกาลที่ 2 ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว

 พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร  พระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 3 (ในภาพองค์ขวาใกล้สุด) สร้างโดยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นพุทธบูชา ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง 


พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย พระมหาเจดีย์รัชกาลที่ 4 (องค์ซ้าย) มีรูปทรงทีแปลกตาจากพระมหาเจดีย์องค์ที่  1-3  สร้างโดยรัชกาลที่ 4 สร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงิน
ซุ้มประตูทางเข้าบริเวณกลุ่มเจดีย์มหาเจดีย์ 4 รัชกาล สวยสะดุดตา

รู้จักยักษ์วัดโพธิ์แห่งท่าเตียนที่ทางเข้ารั้วพระมณฑป

หนึ่งในความตั้งใจมาวันโพธิ์วันนี้ คือ การมาตามหายักษ์วัดโพธิ์ แห่งตำนานกำเนิดท่าเตียน ที่ว่า ยักษ์วัดโพธิ์ รบกับยักษ์วัดแจ้งวัดแจ้ง (วัดอรุณ) เพราะยักษ์วัดโพธิ์ยืมเงินยักษ์วัดแจ้งแล้วไม่คืน จนทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทเหยียบย่ำต้นไม้ตายราบ ทำให้พื้นที่หน้าวัดโพธิ์โล่งเตียน จนเป็นชื่อท่าเตียน สงครามดังกล่าวไม่มีข้อสรุปว่าใครเป็นผู้ชนะ ตำนานเล่าว่ายักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ  และพระอิศวรลงโทษสาบให้ยักษ์ทั้งสองวัดกลายเป็นหินเพื่อเฝ้าวัดทั้งสองแห่งนี้  

วัดพระโพธิ์ มีขนาดเล็กกว่าวัดแจ้งมาก มี 2 คู่ อยู่ในซุ้มประตูสองข้างที่รั้วกำแพงทางเข้าพระมณฑป  ภาพนี้ คือ คู่แรกฝั่งประตูวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นที่ตั้งยักษ์สัทธาสูรและยักษ์พญาขร  ส่วนคู่ที่สองจะอยู่ที่ทางเข้าฝั่งวิหารศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งของยักษ์ไมยราพ ยักษ์แสดงแสงอาทิตย์
พระมณฑปออกแบบตามสถาปัตยกรรมจตุรมุขที่เครื่องยอดทรงมงกุฎ ที่นี่ เป็นที่เก็บตู้พระไตรปิฎกสมบัติของวัด 
ลายปูนปั้นที่ซุ้มประตูทางเข้าด้านนอก เป็นลายกิเลนประดับกระเบื้อง
ลายปูนปั้นซุ้มประตูด้านใน ที่ประดับกระเบื้องลายไก่
สระจระเข้ข้างพระมณฑป สามารถชมได้จากด้านนอกรั้วกำแพงเท่านั้น เพราะไม่ปิดให้เข้าชม

เดินเมื่อยเพราะเดินชมวัดหลายชั่วโมง มาลองศึกษาท่ายืดเส้นจากฤาษีดัดตน และตำรานวดแผนโบราณ  

วัดโพธิ์ โด่งดังเรื่องการนวดแผนโบราณ โดยเป็นโรงเรียนนวดแผนไทย และสถานที่นวดบำบัดให้กับผู้มาเยือน แต่ในวันนี้ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากการระบาดของช่วงโควิท-19  

เขามอ คือ สวนหินหย่อมที่ปลูกไม้ประดับหลากพันธุ์

แต่ไม่เป็นไร เราสามารถชมท่าทางจากฤาษีตามสวนหินหย่อมที่ปลูกไม้ประดับร่มรื่น (เขามอ) รอบๆ วัด  และในวันนี้ขอเก็บภาพมาฝาก เผื่อใครอยากยืดเส้นสายก็ทำตามกันได้ แต่ระวังหน่อยนะ บางท่าอาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับมือใหม่!!!

ภายในศาลารายหน้าพระมหาเจดีย์ จารึกจิตรกรรมฝาผนังตำราศาสตร์นวดแผนโบราณ 
ซูมจิตรกรรมฝาผนัง
เดินชมฤาษีดัดตนแล้วมองไปรอบๆ บริเวณกำแพงจะเห็นซุ้มประตูทรงมงกุฎ ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ 3 มีเห็นตุ๊กตาสลักหินมือถืออาวุธ มีชื่อว่า “ลั่นถัน นายทวารบาล” ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังและป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในวัด

เดินเที่ยวชมวัดโพธิ์วันนี้ เพลินจนคล้อยค่ำเกือบ 17.45 น. ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง ได้รับความประทับใจในทุกมิติ ไม่ว่าความสุขทางใจ การตั้งจิตอธิษฐาน การชมศิลปกรรมไทย รำลึกถึงบูรพกษัตริย์ไทยและที่สำคัญการชมงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินไทยและอินเดียอีกด้วย

หากวัดยังไม่ปิดและเจ้าหน้าที่ไม่เตือนว่าวัดกำลังจะปิด เราคงจะเดินเพลินต่อไปลืมกลับบ้าน  และวันนี้ นับว่าเป็นวันที่คุ้มค่ากับการหลบภารกิจประจำวันมา aDayoff ที่คุ้มค่าทางใจอย่างแท้จริง

วันนี้ ขอลากลับบ้านไปทำภารกิจเรื่องงานเรื่องครอบครัวก่อนนะ แล้วจะกลับไปเที่ยวใหม่แน่นอน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. พระนอนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย https://www.youtube.com/watch?v=7SoQvgzS-wc
  2. ภาพศิลาสลักบนซุ้มโขลนทวาร หรือ ซุ้มประตูสิริมงคล ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ หรือวัดโพธิ์ (๒) https://www.facebook.com/NewSilkRoadMag/posts/2335211870043506/
  3. วัดโพธิ์ http://www.watpho.com/
  4. Wikipedia: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3
Errorlloyd

Errorlloyd

เริ่มการท่องเที่ยวสะพายกล้อง มาตั้งแต่อายุ 29 ปี มิชชั่น คือ ทุกปีต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาเรื่องราว เข้าใจที่มาที่ไป รู้จักชีวิตหรือความคิดของคนต่างถิ่น ทุกสุดสัปดาห์ จะต้องเสาะหาสถานที่เที่ยวที่สามารถเดินทางได้ใน 1 วัน และทุกวันหลังเสร็จจากภารกิจงานและชีวิต มุ่งหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
Previous post หลงทางมาเจอเบเกอรี่ที่ตามหา “ดุสิต กรูเมต์” ซอยศาลาแดง
Next post เปิดตำนานบะหมี่เกี๊ยว กลางหอศิลป์กรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน