สร้างนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า ปทุมธานี

ใครเคยเจอลูกชวนคุยหรือมีคำถามเรื่องวิทยาศาสตร์ แล้วเรานั่งนิ่งเพราะไม่รู้จะตอบยังไงกันบ้างไหม? คุณมีเพื่อนแล้วล่ะ เพราะเราเป็นคนหนึ่งที่ไม่มีหัวเรื่องนี้เลย​ แถมยังสอบตกวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาตั้งแต่สมัยเรียนทุกปี

มาถึงวันนี้ ไม่ต้องกังวลล่ะ เพราะทุกอย่างมีทางออกเสมอ ลองพาลูกมาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์  คลองห้า ปทุมธานี แล้วเริ่มเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกเลย!

ตึกลูกเต๋า ชื่อเล่น อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ที่เป็นรูปทรงลูกบาศก์ 3 ลูก พิงกันอย่างสมดุล และใช้มุมแหลมของแต่ละลูกบาศก์รับน้ำหนัก หนึ่งในแบบอย่างของสถาปัตยกรรมทันสมัย

ความน่าสนใจ 

  1. เล่นเพื่อการเรียนรู้ เพราะมีฐานต่างๆ ให้ลงมือทดสอบด้วยตัวเอง
  2. หัดโปรแกรมมิ่งสร้าง Robot ในแบบฉบับของเรา
  3. แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของจริง ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เรื่องรอบตัว จนไปถึงวิวัฒนาการใหม่
  4. เที่ยวได้หลายวิธี สำหรับครอบครัว เด็กเล็ก และนักเรียนนักศึกษา

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อยู่บริเวณใกล้กับพิพิธภัณฑ์พระราม 9 และอยู่ในรั้วเดียวกันกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์  ค่าเข้าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์สำหรับผู้ใหญ่ราคา 200 บาท และ 100 บาทสำหรับเด็ก จ่ายครั้งเดียวเข้าได้ 3 พิพิธภัณฑ์ (ภายใน 1 วัน) ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ถ้าจะมาให้คุ้ม ก็ควรวางแผนมาถึงตั้งแต่ 9.30 น. เพื่อจะได้เข้าชมให้ครบทั้ง 3 พิพิธภัณฑ์ หากต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์พระราม 9 ด้วย ต้องแยกจ่ายต่างหาก 

พร้อมแล้ว เริ่มการเดินทางกันเลย!

เล่นเพื่อการเรียนรู้ เพราะมีฐานต่างๆ ให้ลงมือทดสอบด้วยตัวเอง

ไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ คือ บริเวณชั้น 3 และ ชั้น 4 (บางส่วน) เพราะจัดพื้นที่เสมือนเป็นสนามเด็กเล่นในร่มขนาดใหญ่ มีฐานให้เด็กๆ ได้ทดลองและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง จนเด็กๆ เล่นสนุกลืมพ่อแม่ แม้แต่เรียกให้กลับบ้านไม่ยอมกลับกันเลยทีเดียว

เด็กๆ กำลังรู้เรื่องว่า ทำไมบอลลูนลอยได้?

ชั้น 3 เปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เบื้องต้นกว่า 20 ฐาน เช่น ไฟฟ้า แม่เหล็ก เสียง แรงเสียด  เล่นได้ไม่ยาก เพียงอ่านขั้นตอนที่ระบุไว้ จะสามารถเล่นตามได้เลย

“ท่อเสียง​” กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ระดับเสียงดัง-ค่อย ที่เกิดความสั้น-ยาวของท่อ
หมุน หมุน ให้เต็มพลังเพื่อเปลี่ยนอุโมงค์ให้เป็นพลังงาน
สัมผัสลูกกลมใส เพื่อเรียนรู้ “พลาสม่า”
ค้นหา “ภาพจริง” จากกระจกโค้ง
เล่นกับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

ชั้น 4 จะมีฐานการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เรื่องโลก ภูมิอากาศ  ธรณีวิทยา  

เรียงไม้เพื่อสร้างตึก และหมุนวงกลมให้สุดแรงเพื่อเกิดแรงสั่นสะเทือน คือ การจำลองแผ่นดินไหว
กิจกรรมเรียนรู้เรื่องปรากฏการณ์บิ๊กแบง
เรียนรู้เรื่องวัฏจักรน้ำ

หัดโปรแกรมมิ่งสร้างหุ่นยนต์

ความน่าสนใจอีกจุดที่ไม่ควรพลาด คือ การโปรแกรมมิ่งหุ่นยนต์ เราสามารถสั่งการให้หุ่นยนต์ร้องเพลง พูด หรือ แสดงสีหน้าตามที่เราวางเนื้อหาไว้ ผ่าน Panel Control  

ลูกชายสนุกสนานกับการโปรแกรมหุ่นยนต์
Control Panel สำหรับโปรแกรมเสียง ท่าทาง และอารมณ์ของหุ่นยนต์

แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของจริง ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เรื่องรอบตัว จนไปถึงวิวัฒนาการใหม่

นอกเหนือจากการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เบื้องต้นพร้อมกิจกรรมต่างๆ  พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสาตร์ที่ครบวงจรมากกว่า 30 หัวข้อ เช่น เทคโนโลยีสำหรับชีวิตประจำวัน ร่างกายของเรา ธรณีวิทยา เกษตรกรรมอินทรีย์ ภูมิอากาศ ดาวเทียม การคมนาคม การบิน เทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย การแกะสลัก การจักสาน การหล่อพระ และอื่นๆ พร้อมทั้งมีกิจกรรมสำหรับเด็ก และโรงภาพยนตร์แสดงเรื่องดาราศาสตร์ที่จัดเป็นรอบๆ

ส่วนต้อนรับชั้น 1 และโรงภาพยนตร์ดาราศาสตร์ ห้องการแสดงด้านวิทยาศาสตร์
นิทรรศการชั้น 2 ประวัติและความเป็นมาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นิทรรศการชั้น 3 วิทยาศาสตร์พื้นฐานและพลังงาน แบ่งเป็นฐานต่างๆ ในการเรียนรู้ และทำเป็นพื้นที่โล่งทะลุไปชั้น 2

เที่ยวได้หลายวิธี สำหรับครอบครัว เด็กเล็ก และนักเรียนนักศึกษา

พิพิธภัณฑ์มีพื้นที่ในเรียนรู้จำนวน 6 ชั้น หากต้องการเรียนรู้ทุกเรื่องน่าจะใช้เวลาเกินกว่า 4 ชั่วโมงและหากมีเด็กๆ ไปด้วยต้องเผื่อเวลาให้เด็กเล่นด้วย ดังนั้น เราขอแนะนำการไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สองรูปแบบ

หุ่นจำลองการทำงานของมนุษย์อวกาศ

1. สำหรับเด็กๆ เน้นการเล่นเพื่อการเรียนรู้ แนะนำให้ไปอยู่ชั้น 3 เรื่อง วิทยาศาสตร์พื้นฐานและพลังงานเป็นหลัก ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง กิจกรรมสามารถดึงดูดความสนใจเด็กได้ดี หากไม่รีบ ก็ปล่อยให้เด็กเล่นจนเย็นแล้วกลับบ้าน ดีกว่ากลับบ้านไปนั่งดูทีวี แต่แนวทางนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมใจยืนเมื่อยขาเมื่อยหลังกันสักหน่อย 

2. สำหรับนักศึกษา นักเรียน หรือผู้ที่สนใจ เน้นการเรียนรู้เชิงลึก แนะนำให้ศึกษาหัวข้อนิทรรศการแต่ละชั้นให้ชัดเจน และมุ่งไปชั้นที่ต้องการ และใช้เวลาอ่านและศึกษา และเล่นฐานให้ครบ โดยสามารถศึกษาข้อมูลนิทรรศการแต่ละชั้นได้จากเว็บไซต์  อพวช. http://www.nsm.or.th/home-science-museum.html  หรือสามารถโทรสอบถามตารางกิจกรรมเสริมศึกษาประจำวันแล้วจึงวางแผนการเดินทาง

อีกนิด… เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เมื่อไปถึง เราแนะนำให้เข้าห้องน้ำปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนขึ้นไปชมแต่ละชั้น เพราะ ห้องน้ำมีอยู่ที่ชั้น 1 เท่านั้น หากเดินเพลินๆ ไปชั้นบนแล้วปวดปัสสาวะ จะต้องลงบันไดเลื่อนทีละชั้น ซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์

วันนี้ เราใช้เวลาเที่ยวเดินดูนิทรรศการไปเกือบ 3 ชั่วโมง ลูกชายเดินออกมาหิวโซเพราะเล่นสนุกจนลืมกินข้าวเที่ยง พอขึ้นรถไปก็หลับปุ๋ย เพราะเหนื่อยจากการเล่นสนุกในฐานต่างๆ นับว่าเป็นการไปเที่ยวกับลูกที่สนุกอีกวัน และยังได้ความรู้ ใช้เวลาได้คุ้มค่าจริงๆ

ก่อนกลับบ้าน แวะทักทายอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
สักวันหนึ่ง ผมจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกเหมือนคุณ”

📍ที่ตั้ง 

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ 
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120

💳ค่าเข้า-ค่าบริการ

ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท เข้าได้ 3 พิพิธภัณฑ์ ไดแก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ มีรถรับส่งระหว่างพิพิธภัณฑ์

🚘การเดินทาง

2 เส้นทาง ได้แก่
1) ไปเส้นทางถนนวิภาวดีรังสิต แยกออกถนนคลองหลวง (3214) และเข้าถนนหมายเลข 3010
2) ไปเส้นทางถนนกาญจนภิเษก แยกออกถนนหมายเลข 305

📆เปิดทำการ

อังคาร – ศุกร์​ 9.30 – 16.00 น.
เสาร์- อาทิตย์ 9.30 – 17.00 น.
หยุดทุกวันจันทร์

Errorlloyd

Errorlloyd

เริ่มการท่องเที่ยวสะพายกล้อง มาตั้งแต่อายุ 29 ปี มิชชั่น คือ ทุกปีต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาเรื่องราว เข้าใจที่มาที่ไป รู้จักชีวิตหรือความคิดของคนต่างถิ่น ทุกสุดสัปดาห์ จะต้องเสาะหาสถานที่เที่ยวที่สามารถเดินทางได้ใน 1 วัน และทุกวันหลังเสร็จจากภารกิจงานและชีวิต มุ่งหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
Previous post ชีวิตติดชิล พริ้วไปกับสายน้ำลำคลอง ที่คาเฟ่ Do Do Blah Blah ริมคลองประเวศบุรีรมย์ ลาดกระบัง
Next post ANDY WARHOL IN BANGKOK