บ้านคุณวาวา “Than Heritage” จุดหมายปลายทาง ที่มากกว่าฝันและความตั้งใจ

วันนี้ นับเป็นความพิเศษที่สุด เพราะได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในทีมงาน มีโอกาสเข้าไปเที่ยวบ้านคุณวาวา บางใหญ่ ที่ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมภายในอย่างเป็นสาธารณะ  ด้วยสถาปัตยกรรมที่สร้างตามแบบฉบับคฤหาสน์โคโลเนียลยุครัชกาลที่ 5  จึงเป็นสถานที่ลับใช้เป็นฉากสำหรับการถ่ายละครทีวีดังย้อนยุค เช่น ปริศนา คุณชายจุฑาเทพ สร้อยสะบันงา เป็นต้น และนอกจากนี้ ด้วยบรรยากาศเสมือนชวนฝันว่านำเราเข้าไปในโลกเจ้าชายเจ้าหญิง ทำให้หนุ่มสาวหลายคู่ เลือกสถานที่แห่งนี้ สำหรับจัดงานวิวาห์ 

มารู้จักบ้านคุณวาวากันก่อน 

บ้านคุณวาวา ตั้งอยู่ในอาณาเขตของ Than Heritage ที่มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ บ้านคุณวาวาตั้งชื่อตามเจ้าของ คุณแม่วาวาหญิงใจแกร่งเกินร้อย ผู้มีความมุ่งมั่นสร้างคฤหาสน์นี้ด้วยความตั้งใจในทุกรายละเอียด ขนาดลงมือออกแบบเองทุกมุม คัดสรรวัสดุตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นเองกับมือ เพื่อที่จะสร้างความฝันของตนเองในวัยเยาว์ ให้เป็นความจริง

ความประทับและไฮไลท์​

  • เที่ยวชมสถาปัตยกรรมสไตส์โคโลเนียล ยุครัชกาลที่ 5
  • ชมเฟอร์นิเจอร์วินเทจและการตกแต่งภายในดุจราชวัง
  • ที่สุดของไฮไลท์ สัมผัสโถงเต้นรำแห่งความโรแมนติก
  • พาตัวคุณย้อนยุค ไปเดินถนนราชวงค์
  • ชิมอาหารไทยรสมือแม่
  • ชมสระบัวและบรรยากาศสวนรอบนอก

เที่ยวชมสถาปัตยกรรมสไตส์โคโลเนียล ยุครัชกาลที่ 5

บ้านวาวา ใช้เวลาสร้างกว่า 5 ปี เป็นคฤหาสน์ 3 ชั้น สีเหลืองสีไข่ไก่ เอกลักษณ์ของบ้าน คือ รูปทรง 8 เหลี่ยมด้านหน้าออกแบบสอดรับกับบันไดรูปตัว L ผนังสีเหลืองสลับโครงประตู Arch โค้ง และบานกระจกใหญ่สีเขียว และด้วยสีโมโนโทนนี้ให้ความอบอุ่นคลาสสิค ลงตัวกับทัศนียภาพต้นไม้ใหญ่น้อยรอบบ้าน จนทำให้เราไม่สามารถละสายตา และเชิญชวนให้เข้าไปค้นหาภายใน

ชมเฟอร์นิเจอร์วินเทจและการตกแต่งภายในดุจราชวัง

ทุกชั้นตกแต่งทุกรายละเอียดด้วยเฟอร์นิเจอร์ และวัสดตกแต่งวินเทจทั้งหมด ชั้น 1 ออกแบบให้เป็นโถงใหญ่ มีฉากประตูแบ่งเป็นห้องเล็ก เพื่อการใช้สอยที่ต่างกัน ชั้น 2 มีห้องนอน 5 ห้องนอนใหญ่ และห้องดินเนอร์หรู ตลอดทางเดินตกแต่งด้วยบานกระจกสูงเปิดกว้าง ทำให้เห็นสวนบัวด้านล่าง 

บรรยากาศชั้น 1

บรรยากาศห้องรับรองชั้น 2-3

บรรยากาศห้องดินเนอร์หรู ชั้น 2

ที่สุดของไฮไลท์ สัมผัสโถงเต้นรำแห่งความโรแมนติก

จุดไฮไลท์ คือ ที่ชั้น 2 โถงเต้นรำใต้โคมไฟแชนเดอเลียร์ ตรงหน้ามีบันไดคู่บรรจบไปชั้นลอยชั้น 3 ทำให้นึกถึงฉากในนิทานเรื่องซินเดอริลล่าก้าวเดินลงบันไดที่ละขั้น พร้อมหัวใจที่เต้นรัว เพราะเจ้าชายที่เธอกำลังหลงรัก รอโค้งคำนับเพื่อจะเต้นรำในค่ำคืนนี้ 

พาตัวคุณย้อนยุค ไปเดินถนนราชวงค์

ด้านหลังคฤหาสน์ มีถนนราชวงค์ย้อนยุคจำลองอาคารร้านค้าในอดีต สำหรับเป็นฉากละครอีกด้วย มีโรงจำนำ ไปรษณีย์ ร้านตัดผม และอื่นๆ อีกหลากหลายร้าน

ชิมอาหารไทยรสมือแม่ที่คาเฟ่ย้อนยุค

ถึงนักท่องเที่ยวทั่วไปอาจจะเข้าชมภายในไม่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม เรายังแวะไปเที่ยวได้ เพราะด้านหน้ามีร้านอาหาร “วาวา เฮ้าส์” อาหารไทยรสมือคุณแม่วาวา เสิร์ฟเมนูชื่อพิเศษ เช่น ข้าวผัดปริศนา  

อย่าลืมพินิจพิจารณาบ้านไทยใช้เป็นร้านอาหารด้วย เพราะบ้านหลังนี้ มีอายุกว่า 100 ปี ยกทั้งหลังมาจากสาทรมาตั้งที่นี่เมื่อ 30 ปีทีแล้ว

ชมสระบัวและบรรยากาศสวนรอบนอก

หลังอิ่มอร่อยจากมื้ออาหารแล้ว สามารถเดินเที่ยวชมอาคารจากด้านนอก ถ่ายภาพที่สะพานข้ามสระบัว ชมสวน ภายใต้บรรยากาศอันร่มรื่น

วันนี้ใช้เวลาเยี่ยมชมตั้งแต่เช้า 9 โมง ถึง 4 โมงเย็น นับเป็นความประทับใจอย่างยิ่งในหัวใจคุณแม่วาวาที่คิดและสร้างบ้านหลังนี้

ในทุกรายละเอียด ให้เห็นหัวใจที่แข่งแกร่งอย่างขุนผาที่ไม่ยอมแพ้ข้อจำกัดใดๆ เพื่อพิสูจน์ว่า ถ้าเรามีความ “ฝันและตั้งใจ” ไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำไม่ได้

บรรยากาศสัมภาษณ์คุณแม่วาวา
คุณแม่วาวาสุดแกร่ง ใจเกินร้อย ได้ไจกันไปเลย

คุณเจี๊ยบลูกสาวคนสวยของคุณแม่วาวา

ขอขอบคุณคุณแม่วาวา คุณเจี๊ยบลูกสาว  และฝน-ฝ้ายแห่งเพจ Agelesscult ที่เปิดโอกาสให้ได้มาร่วมการเดินทางสำคัญวันนี้ 

คุณฝ้าย-ฝน (ซ้ายสองคน) คุณเจี๊ยบ (ลูกสาวคุณแม่วาวา) คุณออ (เพื่อนคุณฝ้ายและเจี๊ยบ)​
และคุณพอล (หน้าซ้าย)​ ช่างภาพ Studio Portriat ผู้มากประสบการณ์จากนิวยอร์คและลอนดอน และครูปุ๊ (หน้าขวา)​ แฟชั่นสไตสิสต์ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานดังในประเทศไทย ใหัเกียรติ์มาสร้างผลงานภาพอวยพรตรุษจีนสำหรับแฟน Agelesscult โปรดติดตามกันได้เลย
Errorlloyd

Errorlloyd

เริ่มการท่องเที่ยวสะพายกล้อง มาตั้งแต่อายุ 29 ปี มิชชั่น คือ ทุกปีต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาเรื่องราว เข้าใจที่มาที่ไป รู้จักชีวิตหรือความคิดของคนต่างถิ่น ทุกสุดสัปดาห์ จะต้องเสาะหาสถานที่เที่ยวที่สามารถเดินทางได้ใน 1 วัน และทุกวันหลังเสร็จจากภารกิจงานและชีวิต มุ่งหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
Previous post มีอะไรที่ห้อง 230? พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะวิทยาศาสตร์
Next post สัมผัสรสชาติแห่งเมดิเตอร์เรเนียน ที่ Mama Dolores