ตามหามรดกที่ซ่อนตัวในกรุงรัตนโกสินทร์ ณ วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร (วัดหมู) ริมคลองภาษีเจริญ

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เป็นวัดที่มีพื้นที่เล็กๆ ริมคลองภาษีเจริญ แต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของประเทศ คือ พระพุทธเจ้า 28 พระองค์  และเป็นที่ตั้งของ หอพระไตรปิฎกปิดกระจกสีสมบัติล้ำค่าของชาติยุครัตนโกสินทร์ที่ได้รับอนุรักษสืบต่อกันมา นอกจากนี้ ในทุกตารางเมตรของวัด เราจะได้สัมผัสความร่มเย็น สงบ และคงไว้ซึ่ง ความเป็นธรรมดาของพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ ทุกครั้งที่ผมมา ผมจะพบกับเจ้าอาวาส พระครูพิศาลพัฒนคุณ ในอุโบสถให้ศีลให้พรแก่พุทธศาสนิกชนผู้มาเยือน

พุทธศาสนิกชนเข้าถวายสังฆทานกับเจ้าอาวาสพระครูพิศาลพัฒนคุณ

วันนี้ เจ้าอาวาสท่านรับสังฆทานและให้ศีลให้พรกับผมและครอบครัว ถือว่าเป็นบุญของผม  และผมได้ตั้งจิตอธิษฐานขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด ขอเผยแพร่เรื่องของวัดหมู เพื่อเป็นสะพานบุญส่งต่อให้ทุกคนในโลกออนไลน์

8 ความน่าสนใจที่วัดอัปสรสวรรค์

  1. ไหว้พระพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ แห่งเดียวในสยาม
  2. ทำบุญแก้ชงสำหรับคนนักษัตรปีชวด
  3. หอไตร แห่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ และดูชีวิตเต่าใต้หอ
  4. ชมอุโบสถ พระปรางค์สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลการออกแบบจากจีน
  5. ชมเรือนไม้เก่าโรงเรียนวัดอัปสรสวรรค์
  6. ทำบุญเสร็จแล้ว มาทำทานให้เหล่ามัจฉา
  7. ก่อนกลับบ้านแวะซื้อกุ่ยช่ายโบราณ แห่งตลาดพลูเลืองชื่อ
ซุ้มประตูทางเข้าที่ภายในระเบียงพระอุโบสถ

ทำไมถึงชื่อ “วัดหมู”? วัดหมูสร้างโดยชาวจีน ชื่อ อู๋ ที่มีอาชีพเลี้ยงหมู ทำให้บริเวณวัด มีหมูเดินไปเดินมาจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดหมู ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกว่าชาวจีนนี้ คือ คนในยุคสมัยไหน จวบจบ ในยุครัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และได้พระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดอัปสรสวรรค์” เพื่อเป็นที่ระลึกแต่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงเป็นสุหรานากง จากละครเรื่องอิเหนา 

บรรยกาศริมคลองภาษีเจริญหน้าวัดหมู

ปัจจุบัน วัดอัปสรสวรรค์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีเจ้าอาวาสมาแล้ว 8 ลำดับ ลำดับที่ 1 คือ พระวชิรกวี (รอด) เดิมอยู่วัดสุวรรณาราม  ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสในรัชกาลที่ 3 เจ้าอาวาสปัจจุบัน คือ พระครูพิศาลพัฒนคุณ (ไพศาล) ที่ aDayoff ได้พบวันนี้ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัปสรสวรรค์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 และเมือปี 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้พระครูฯ เป็นพระครูสัญญาบัตร

พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ มีความหมายอย่างไร

ตามพระพุทธศาสนา ได้มีพระพุทธเจ้าได้มาตรัสรู้บนโลกมาแล้ว 28 พระองค์ โดยองค์ปัจจุบัน คือ พระสมณโคดมพุทธเจ้า หรือมีพระนามเดิมว่า สิทธัตถะโคตมะ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือน 6 ณ พุทธคยา กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ 

ช่วงระยะที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาอุบัติในโลกนั้น มีหน่วยระยะเวลาเรียกว่า “กัป” ที่เป็นช่วงระยะเวลาอันยาวนานของโลกจนไม่สามารถกำหนดเป็นวันเดือนหรือปีได้

พระพุทธเจ้า 28 พระองค์

พระพุทธเจ้ามีพระนามแตกต่างกันออกไปในแต่ละกัป ได้แก่  พระตัณหังกรพุทธเจ้า   พระเมธังกรพุทธเจ้า  พระสรณังกรพุทธเจ้า พระทีปังกรพุทธเจ้า  พระโกณทัญญพุทธเจ้า  พระมังคลพุทธเจ้า   พระสุมนพุทธเจ้า พระเรวตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้า พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า พระปทุมพุทธเจ้า  พระนารทพุทธเจ้า พระปทุมุตตรพุทธเจ้า  พระสุเมธพุทธเจ้า พระสุชาตพุทธเจ้า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า  พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า พระสิทธัตถพุทธเจ้า พระติสสพุทธเจ้า พระปุสสพุทธเจ้า  พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมโนพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า พระโคตมะพุทธเจ้า

ทั้งนี้ จะบังเกิดพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป (องค์ที่ 29) คือ พระเมตไตรย อีก 80,000 ปีหรือครบ 80 อสงไขยแสนมหากัป

แผนผังพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ในกรอบรูปที่ติดในอุโบสถ

การมาไหว้พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เราศึกษาตำแหน่งพระพุทธรูปแต่ละองค์ จากภาพแผงผัง ที่กำแพงวัด ด้านตรงข้ามกับด้านที่พระพุทธเจ้าฯ ประดิษฐาน พระพุทธเจ้าองค์แรก “พระตัณหังกรพุทธเจ้า” ประดิษฐานสุงสุดที่ชั้นบน  และองค์หน้าสุด คือ พระโคตมะพุทธเจ้า องค์ปัจจุบัน (ล่าสุด)

แก้ปีชงสำหรับคนเกิดปีชวด

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เป็นที่สักการะบุชาสำหรับการแก้ชงสำหรับคนเกิดปีชวด (ได้แก่ ผู้ที่เกิดปี พ.ศ. 2455, 2467, 2479, 2491, 2503, 2515, 2527, 2539 และ 2551) การกราบไหว้พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ จะเป็นศิริมลมล คุ้มครองแคล้วคลาดปลอดภัย หากต้องพบเจออันตรายใดๆ ก็ช่วยผ่อนจากหนักเป็นเบานั้นเอง

ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่กลางลานหน้าวัดที่พุทธศาสนิกชนเทน้ำจากการกรวดน้ำ หลังจากการถวายสังฆทาน ต้นโพธิ์โบราณที่มีอายุยืนนาน เชื่อกันว่ามีรุกเทวี รุกเทวา ขอให้ผู้มาเยือนให้เคารพ ไม่ทิ้งขยะ หรือกระทำไม่ชอบ

ชมสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลการออกแบบจากศิลปะจีน

สืบเนื่องจากการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่  3 ที่เล่าไปในช่วงแรกนั้น ได้มีการสร้างหรือบุรณะพระอุโบสถ ที่ได้รับอิทธิพลแบบจีนตามรัชนิยม โดยสร้างคล้ายคลึงกับวัดราชโอรสารามฯ (วัดประจำรัชกาลที่ 3)  โดยมีหน้าบันแต่ละด้านของพระอุโบสถจะประดับประดาด้วยประติมากรรมนูนสูงตามแบบฉบับศิลปะจีน ที่กรอบประตูและหน้าต่างๆ แกะสลักนูนต่ำเป็นช่อดอกไม้

หน้าบันศิลปะจีน
กรอบประตูหน้าต่าง ประดับประดาด้วยประติมากรรมนูนต่ำ อ่อนช้อยสวยงาม

มีพระพุทธปรางใหญ่สีขาว อยู่ถัดไปจากบริเวณพระอุโบสถ อันเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุ 9 องค์ (ตามคำบอกกล่าวของเจ้าอาวาส) มีพระเวสสุวรรณประดิษฐานที่องค์พระปรางค์ทั้ง 4 ทิศ ที่ฐานพระปรางค์มีการออกแบบลายฉลุแบบจีนทำด้วยเซรามิก (Porcelain)

หน้าพระปรางค์ เป้นที่ประดิษฐานท้าวเวสสุวรรณ
การตกแต่งเซรามิกที่ฐานพระปรางค์

และที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้อัปสรสววรค์มีความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทย เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ แทนพระพุทธเจ้าในชาติภพต่างๆ  นอกจากนี้ และได้พระราชทานพระปางฉันสมอมาประดิษฐานทีมณฑปไว้ในวัดนี้ (อยู่ที่ลานพระอุโบสถ) ด้วยนอกจากนี้ ยังมีการศาลาหลวงพ่อโพธิ์ ที่ลานหน้าวัดฝั่งริมคลอง มีผู้คนเดินทางมาสักการะบูชา เพราะความเมตตามหานิยมทางการค้าขาย

ศาลาหลวงพ่อโพธิ์

หอพระไตรปิฎกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นร่มเงาให้เต่าใต้หอพระ

หอพระไตรฯ ที่วัดอัปสรสววรค์ เป็นหอไตรหลังเดียวในกรุงรัตนโกสินทร์ได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 3 เป็น อาคารทรงไทย หลังคาทรงคฤห์ลดชั้นหน้าและหลัง ติดช่อฟ้าใบระกา ตกแต่งผนังปิดกระจกประดับ มีความงามที่ไม่เคยปรากฏในที่อื่นๆ  เมื่อมาเที่ยวแล้ว แนะนำให้ดูรายละเอียดที่ผนังที่ปิดกระจกสีที่สองประกายวับวาวแม้ในที่ร่มเงา  นอกจากนี้ ที่ประตูและเสาเขียนด้วยลายรดน้ำ สวยงามวิจิตรบรรจง หอไตรนี้ เคยมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา โดนปลวกกิน และได้รับการบูรณะ แล้วเสร็จในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

หอพระไตรปิฎกลางสระน้ำ

หอพระไตรฯ สร้างขึ้นในสระน้ำ และที่สระน้ำที่เองที่เป็นอาศัยของเด่าหลายสิบตัว ที่ปืนขึ้นลงแพไม้ไผ่ ร่มเย็น

เต่าหลายตัวใต้หอพระไตรฯ

ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่า พบตำรายา ในหอพระไตรฯ โดยท่านเจ้าอาวาสได้ถวายให้กับพระ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาแล้ว

ชมเรือนไม้เก่าโรงเรียนวัดอัปสรสวรรค์

บริเวณริมน้ำ ขวามือสุด เป็นที่ตั้งของงโรงเรียนวัดอัปสรสวรรค์  เจ้าอาวาสเล่าว่าเป็นโรงเรียนเปิดสอนเด็กๆ ในชุมชนถึงชั้น ป.6 ให้การศึกษากับนักเรียนถึง 350 คน แต่ต้องหยุดดำเนินการเพราะสาเหตุทางสุขภาพของเจ้าของโรงเรียนประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา สภาพโรงเรียนในปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เจ้าอาวาสตั้งใจจะบูรณะ ทำเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของวัด

โรงเรียนวัดอัปสรสวรรค์ที่ปิดทำการแล้ว
ท่าน้ำโบราณที่ยังไม่ได้บูรณะหน้าโรงเรียน

ทำบุญเสร็จแล้ว อย่าลืมมาทำทานแก่เหล่ามัจฉา

เนื่องจากวัดอัปสวรรค์ ตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ จึงเป็นโอกาสดีเมื่อเราได้ทำบุญแล้ว เราก็ได้โอกาสทำทานแต่สัตว์โลกด้วย และเป็นกิจกรรมที่ถูกใจที่สุดสำหรับเด็กน้อยที่มาด้วยกันในวันนี้ เราสามารถซื้อขนมปังที่จัดเตรียมโดยเจ้าหน้าที่ของวัด และโยนลงแม่น้ำเลี้ยงปลา ปลาจำนวนว่ายขึ้นมาอย่างไม่ขาดสาย

เด็กๆ ให้ทานอาหารปลาสนุกสนาน

ก่อนกลับบ้านแวะซื้อกุ่ยช่ายโบราณที่เลื่องชื่อแห่งตลาดพลู

ขากลับวันนี้ ขับรถผ่านตลาดพลูที่เลืองชื่อเรื่อง กุ่ยช่ายโบราณ ต้อมๆ ตอมๆ อยู่หลายร้านว่าร้านไหนของแท้ ตัดสินใจแวะร้าน ป๋าป้าเตี้ยมซิม ที่เปิดขายมาตั้งแต่ 2516  ซื้อกลับบ้านมาฝากคุณพ่อคุณแม่ ท่านถึงถึงกับบอกว่า “ของแท้ เพราะทำด้วยแป้งข้าวเจ้า” (ปัจจุบันทำด้วยแป้งมัน ทำให้แป้งเละ) แป้งบางแต่คงตัวได้ดี เคี้ยวหนึบแต่ไม่เหนียว ใส้กุ่ยช่ายผัดได้รสชาติพอดี  ต้องบอกว่า จะต้องกลับไปกินอีกทีแน่นอน

ร้านกุ่ยช่ายป๋าป้าเตี้ยมซิม มีใส่ผัก หน่อไม้ มันแกว เผือก นอกจากนี้ขายบะจ่าง และอาหาร นั่งนั่งกินสบายๆ และมีที่จอดรถด้านหน้า
ผักแน่นๆ แป้งข้าวเจ้าหนีบๆ แต่ไม่เหนียว ติดใจต้องไปอีก

และที่ร้านกุ่ยช่ายโบราณนี้ ก็ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทาง “เที่ยววันเดียวก็สนุกได้” แบบ aDayoff กับการตามหามรดกของชาติยุครัตนโกสินทร์ ได้ความรู้ รู้สีกอิ่มบุญ และอิ่มท้องกลับไปบ้าน เตรียมกลับไปทำงานในสัปดาห์ต่อไปอย่างเต็มพลัง

📍ที่ตั้ง

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร (ชื่อใน Google คือ Wat Absonsawan Worawihan)​ หมู่ 7, ถนนเทอดไท 49, แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร, 10160 10160 หมู่ 7, ถนนเทอดไท 49, แขวงปากคลองภาษีเจริญ (คลิกไปดู​ Map ใน google https://goo.gl/maps/Vb7GpmA2hDiMvoXm8) ละติจูด 13.720075 ลองติจูด  100.469827

💳 ค่าเข้า

ฟรี

🚘 การเดินทาง

ทางรถไปทางถนนเทอดไท เลี้ยวขวาไปตามทางอู๋รถเมล์ และเป็นทางไปวัดปากน้ำด้วย  ผ่านการเข้าวัดปากน้ำ เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายที่เขียนวัดอัปสรสวรรค์

📆 เปิดทำการ

เข้าชมภายในพระอุโบสถและพระวิหาร 
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-17.00 น. 

Errorlloyd

Errorlloyd

เริ่มการท่องเที่ยวสะพายกล้อง มาตั้งแต่อายุ 29 ปี มิชชั่น คือ ทุกปีต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาเรื่องราว เข้าใจที่มาที่ไป รู้จักชีวิตหรือความคิดของคนต่างถิ่น ทุกสุดสัปดาห์ จะต้องเสาะหาสถานที่เที่ยวที่สามารถเดินทางได้ใน 1 วัน และทุกวันหลังเสร็จจากภารกิจงานและชีวิต มุ่งหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
Previous post หยุดพัก ฟังเสียงนก-ปลาหลายร้อยพันธุ์ บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติบึงบัว ที่ทุ่งสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
Next post คาเฟ่เล็กๆ แต่หัวใจใหญ่รักโลก ที่ฟาร์มและอาหารออร์แกนิค Chicken & Bee เชิงเขาสามร้อยยอด ปราณบุรี