หยุดพัก ฟังเสียงนก-ปลาหลายร้อยพันธุ์ บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติบึงบัว ที่ทุ่งสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชวนยืนหลับตาและหยุดนิ่งทำให้ร่างกายของเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพื่อฟังเสียงนกหลายพันธุ์จากพุ่มต้นธูปฤาษี เสียงปลากระเพื่อมน้ำ และสูดกลิ่นธรรมชาติที่ทุ่งสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติ เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” 

วันนี้ aDayoff พาทุกคนมาเที่ยวที่พำนักตามธรรมชาติของนก กับปลา ที่ห้อมล้อมด้วยพืชพรรณตามธรรมชาติในทุ่งน้ำจืดบึงบัว อุทยานแห่งชาติ เขาสามร้อยยอด เราจะพาทุกคนเดินบนสะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปในทุ่ง และเพื่ออรรถรสในการรับชมรับฟัง ขอให้ทุกคนเดินบนสะพานให้เบาที่สุดเพื่อทำให้เจ้าของบ้านไม่ตกใจและปรากฎตัวให้เราได้ชม

ทุ่งสามร้อยยอด บ้านของนก ปลา และพืชพันธุ์กว่า 100 ชนิดอยู่กันสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน

มารู้จักทุ่งสามร้อยยอด-เขาสามร้อยยอด

บึงบัวอยู่ในทุ่งสามร้อยยอดที่เป็นทุ่งน้ำจืดขนาดใหญ่ (Wetland) หรือพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ขนาด 61,300 ไร่ตารางกิโลเมตร ที่วางตัวในแนวเหนือจรด ใต้ ขนานไปกับพื้นที่ภูเขาสามร้อยยอด โดยมีความยาวแนวจากเหนือไปใต้ รวมประมาณ 16 กิโลเมตร และกว้างโดยเฉลี่ยประมาณ 4 กิโลเมตร   ครอบคลุม 6 ตำบล คือ ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี ตำบลศิลาลอย ตำบลศาลาลัย ตำบลไร่เก่า ตำบลไร่ใหม่ และตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  

ทุ่งสามร้อยยอดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีน้ำขังหรือท่วมถึงตลอดทั้งปี มีทั้งส่วนที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย  อยู่ทางตะวันตกของเทือกเขาสามร้อยยอด มีสะพานไม้ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา และมีศาลาให้นั่งพักกลางทาง และหลบแดดหรือหลบฝน ตลอดเส้นทางการเดินทางเราจะได้ศึกษาพันธุ์ไม้น้ำและสิ่งมีชีวิต เช่น นก ปลา แห่งทุ่งน้ำจืด

ทุ่งสามร้อยยอดกับฉากหลังเทือกเขาสามร้อยยอด

บริเวณพื้นที่เทือกเขาสามร้อยยอด มีสถานภาพทางชีวภาพเป็นภูเขาหินปูน (limestone forest)  เคยเป็นทะเลมาก่อน มีตำนานเล่าเขาต่อกันมาว่าเคยมีเรือสำเภาจีนแล่นหลบลมพายุรุนแรง และได้ชนกับหินโสโครกอับปางลง มีผู้รอดชีวิตมาอาศัยบนเกาะประมาณ 300 คน จึงได้ตั้งชื่อว่า “เกาะสามร้อยรอด” 

ต่อมาระดับน้ำทะเลได้ลดลง เกาะกลายเป็นภูเขา ชาวบ้านเรียกคลาดเคลื่อนเป็น “เขาสามร้อยยอด”  ทำให้สภาพพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว เค็ม และหนึ่งในสามของพื้นที่มีน้ำท่วมขังตลอดปียากที่จะพัฒนาเพื่อทำการเกษตร ประกอบกับงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินการจัดสรรพื้นที่ไม่เพียงพอ การดำเนินการจัดสรรจึงยกเลิกไป ปล่อยพื้นที่คงสภาพเป็นทุ่งแขมธรรมชาติ เป็นที่อยู่ของนกไม่ต่ำกว่า 157 ชนิด

การเดินทางเยี่ยมบ้านนกและปลาที่บีงบัว

เดินทางด้วยทางหลวงหมายเลข 4 ลงใต้จากกรุงเทพ ประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ตรงเรื่อยมาจนถึง ปตท.สามร้อยยอด เลี้ยวซ้ายตามป้าย ขับตรงไปเรื่อยๆ

*สิ่งที่ต้องควรระวัง คือ ป้ายบอกทางที่เลี้ยวซ้ายก่อนกำหนดบริเวณปราณบุรี เพื่อไปอุทยานเขาสามร้อยยอดฝั่งตะวันออกหรืออุทยานฝั่งทะเลจะถึงก่อน (จะพาเที่ยวในบทความต่อไป) อย่าได้เลี้ยวไปนะครับ เพราะจะพาออกนอกเส้นทาง ทั้งนี้ ทุ่งสามร้อยยอด จะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอุทยานเขาสามร้อยยอด หากขับไปทางทิศตะวันออกจะไม่มีถนนที่วิ่งตัดมาทิศตะวันตก ต้องขับอ้อมเขา ซึ่งจะทำให้เสียเวลาในการเดินทาง

ถนนที่เลี้ยวแยก ทางหลวงหมายเลข 4 จะมีป้ายบอกทางไปโรงเจลุ่ยอิมยี่ เขาสามร้อยยอด ขับตามป้ายไปเรื่อย จนผ่านโรงเจ ณ จุดนี้ สองข้างคือ ทุ่งสามร้อยยอด ทางขวามือจะเป็นทุ่งกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา ที่ชาวบ้าน อาศัยริมถนน ไปกับธรรมชาติ และด้านซ้ายจะเป็นทุ่ง ที่ฉากหลังเป็นเขาสามร้อยยอดที่สวยดุจภาพวาด  

ถนนทางเข้าไปเส้นทางศึกษาธรรมชาติบึงบัว จะผ่านโรงเจลุ่ยอิมยี่ เขาสามร้อยยอด

ขับเข้ามาเรื่อยจะเจอจุดตรวจเจ้าหน้าที่อุทยานทำงานแข็งขันตรวจวัดไข้และให้ Check-in แอปไทยชนะ  ลงทะเบียนการเข้าออกและเก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้า คนไทย 40 บาท เด็กไทย 20 บาท (ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ 200 บาท  และเด็กชาวต่างชาติ 100 บาท) 

เมื่อผ่านจุดตรวจแล้วจอดรถ ตรงหน้า คือ เส้นทางธรรมชาติสะพานไม้ เดินชมชีวิตสัตว์และ พืชพรรณทุ่งสามร้อยยอด  

ภาพแรกทุ่งบัว มองจากที่จอดรถที่เตรียมรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติบริเวณอุทยานชาติเขาสามร้อยยอด

เริ่มต้นการเยี่ยมบ้านนกและปลา

บริเวณแรก คือ ทุ่งบัวหลวง (Nelumbo Nucifera Geartn.) สีชมพู วันที่ไปบัวออกดอกไม้เยอะมาก แต่สามารถทำให้เกิดจินตนาการได้ว่า หากบัวบานทั้งทุ่งจะสวยงามขนาดไหน  การชมทุ่งบัวหลวงนั้น แนะนำให้ศึกษาวงจรชีวิตของบัว คือ บัวตูม บัวบาน บ้วโรย จนเหลือแต่ฝักบัวเม็ดบัว บริเวณนี้จะมีแมลงปอ และ ผีเสื้อบินให้เห็นชัดเจน และนกบินโฉบไปมาลงเล่นน้ำ บริเวณนี้ ห้อมล้อมด้วยต้นธูปฤาษเป็นฉากหลังขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตา สุดบริเวณทุ่งบัวหลวง จะเป็นเป็นศาลาแรก สำหรับนั่งพัก 

เริ่มต้นการเดินทาง กับสะพานไม้ ทอดผ่านทุ่งบัวสุดลูกหูลูกตา จากการศึกษาผ่าน Internet สะพานจะมีสีแดง

 

ที่ศาลาแรก จะเป็นบ้านของนกพิราบและนกกระจอกทำรังบริเวณหลังคา แนะนำให้พวกเรานั่งเงียบ รอนกมาเกาะที่ระเบียง และแอบ Snapshot ภาพ หรือ ศึกษาการใช้ชีวิตของพวกเขา

ศาลาแรก ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ ลมเย็นสบาย

ที่รอบศาลาแรกนี้ ยังคงเป็นบึงขนาดใหญ่ ที่บ้านของบัวสายสีขาว บริเวณนี ปลาชุกชุม และเป็นอาศัยของสาหร่ายน้ำ มาวันนี้ เราพบปลาน้ำจืดจำนวนมาก และ หอยทากตัวโตเกาะใบบัว อากาศเย็นสบาย นั่งพัก เอนหลังพักผ่อนได้สบาย  

ทุ่งธูปฤาษี สูงห้อมล้อมผู้มาเยือน

จากศาลาแรก เข้าสูงบริเวณที่ 2 คือ ทุ่งธูปฤาษี ต้นไม้ ล้มลุกสูง 1.5-3 เมตร มีเหง้าแตกแขนง บริเวณนี้ แนะนำให้เรายืนนิ่ง ไม่ส่งเสียง เราจะได้ยินเสียงนกจากพุ่มธูปฤาษี รอบตัวเราตลอดเวลา เหล่าจะซ่อนตัวอยู่ ไม่ปรากฎตัว แต่ถ้าเราส่องดีๆ เราจะเห็นนกหลากหลายพันธุ์ 

“ณ กลางสะพานนี้เอง ขอชวนยืนหลับตา และหยุดนิ่งเหมือนไม่มีตัวตน ทำให้ร่างกายของเราได้รับความไว้ใจจากธรรมชาติ เพื่อฟังเสียงนกหลากพันธุ์ที่บดบังหลังพุ่มต้นธูปฤาษี เสียงปลากระเพื่อมน้ำ” 

นกอีโก้ง ออกมาจากพุ่มธูปฤาษี การถ่ายภาพต้องใช้เวลาอย่างรวดเร็ว และเราต้องอยู่ในความเงียบ

ปลายทางเดินสะพานไม้ช่วงนี้ จะไปสิ้นสุดที่ศาลาพักร้อนที่ 2 บริเวณนี้ห้องล้อมด้วยต้นธูปฤาษีสุดลูกหูลูกตาทอดไกลไปถึงศาลาที่ 3,4,5 และหอคอยสุดท้าย แต่การเดินทางวันนี้ สิ้นสุดลง ณ ศาลานี้ เพราะว่าสะพานที่นำไปศาลาต่อๆ ไปชำรุด ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงนั่งลงพักผ่อนรับลมปล่อยกายและอารมณ์ฟังเสียงจากธรรมชาติ ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการหลอมรวมกับธรรมชาติในวันนี้ 

ทัศนียภาพทุ่งธูปฤาษี กับเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และศาลาทอดยาว
เส้นทางจากศาลาที่ชำรุดไม่สามารถเดินทางต่อได้

ข้อแนะนำในการเที่ยว

การเดินทางตลอดสะพานไม้ใช้เวลามีเกิน 30 นาที ไม่รวมการปล่อยความคิดและอารมณ์ไปกับธรรมชาติ แนะนำให้ไปวันธรรมดาหรือช่วงเวลาที่คนไม่เยอะ  ความเงียบสงบจะทำให้เราได้ชมนกหลากหลายพันธุ์ 

สำหรับคนชอบการถ่ายภาพ ขอแนะนำดังนี้

1. ช่วงบ่ายและเย็น ไปช่วงเวลานี้ จะได้ถ่ายภาพพร้อมฉากหลังเป็นเทือกเขาสามร้อยยอดไม่ย้อนแสง ยังเหมาะกับการเก็บภาพพระอาทิตย์ตกดินลงกลางทุ่งอีกด้วย 

2. ช่วงเช้า ไม่เกิน 10.00 น. ถ่ายภาพไปยังทิศตะวันตก เห็นทุ่งสุดลูกหูลูกตา พร้อมฟ้าสีฟ้าจัดและมุมแสงโพลาไรซ์  (Polarized) 

หามุมฟ้ารับแสงโพลาไรซ์จากท้องฟ้า หากติด ​Filter ไปด้วยสีจะเข้มกว่านี้

3.หาวันฟ้าเปิด แต่มีก้อนเมฆ ถ่ายภาพช่วงก่อน 10.00 น. และ หลัง 16.00 น. เล่นความสีและแสง Contrast ของสีฟ้าขาว และเงาตกกระทบของเมฆบนผืนน้ำ

น้ำใส เห็นรายละเอียดในน้ำ และแสงท้อนจากก้อนเมฆ

ก่อนกลับ เพิ่มความศิริมงคลให้ชีวิต เช่าหินพระธาตุเป็นของที่ระลึกจะเขาสามร้อยยอด  

ขากลับออกจากอุทยานแห่งชาติ แนะนำให้เลี้ยวเข้าไปทางเส้นทางซ้ายที่มีป้ายบอกว่าชมทุ่งบัวบานของชาวบ้าน แต่วันนี้ที่ aDayoff ผ่านไป ยังอยู่ในช่วงที่เพิ่งเปิดการดำเนินการ Covid19 พ่อค้าแม่ขายยังไม่กลับมาตั้งร้าน แต่ความน่าสนใจที่ aDayoff เจอคือ การร้านค้าริมทาง ที่มีชาวบ้านแกะสลักหินพระธาตุมาจำหน่ายเป็นพุทธบูชา

หินพระธาตุ ถ้ำดวงตาที่เช่ามาเป็นศิริมงคล และขออนุโมทนาส่งความสุขความเจริญไปยังเพื่อนและแฟนๆ aDayoff

หินพระธาตุ คือ หินเกลี้ยงทรงกลมหรือเกือบกลมที่หลุดจากถ้ำในบริเวณเขาสามร้อยยอด แต่ละถ้ำอยู่ต่างที่กัน ทำให้มีสีของหินต่างกัน ถ้ำที่เป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ ถ้ำฟ้าแลบ ถ้ำดวงตา ถ้ำประทุน ถ้ำนางฟ้า ถ้ำทิศหมาน ถ้ำมังกร เป็นต้น   ชาวบ้านนำหินพระธาตุมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางหรือเทพเจ้าต่างๆ โดยเราสามารถบูชาได้เลยโดยไม่ต้องปลุกเสก เพราะความเชื่อและแรงศรัทธาในหินพระธาตุที่เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า (หรือองค์พระพุทธเจ้าในรูปแบบหนึ่ง) จึงเป็นเมตตามหานิยม ช่วยเจริญสมาธิภาวนะ โชคลาภ ความเจริญ สุขภาพดี ค้ำคูณดวงซะตา 

เมื่อได้หินพระธาตุมาครอบครองแล้วก็ ขอให้ตั้งจิตอธิษฐาน บูชา และสวดคาถาพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่าพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆังสรณัง คัจฉามิ  พุทธะ มะ อะ อุ นะโมพุทธายะ วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มานีมามะ พุทธัสสะ สวาโหม  จะทำให้มีความคล่องตัวในความเป็นอยู่ เงินไม่ขาดมือ

📍ที่ตั้ง

Bueng Bua Wood Boardwalk(Thung Sam Roi Yot) ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ (บึงบัว) อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด  หมู่ 2 บ้านเขาแดง ต.เขาแดงอ.กุยบุรีจ.ประจวบคีรีขันธ์ 77150 https://goo.gl/maps/KvEpMcePFVxwj8Tk9 Latitude: 12.252391 Longitude: 99.933006

💳ค่าเข้า

ผู้ใหญ่ชาวไทย 40  บาทเด็กชาวไทย 20 บาท
ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ 200  บาทเด็กชาวต่างชาติ 100 บาท
ซื้อบัตรได้ที่ชั้นทางเข้า 

🚘การเดินทาง

จากกรุงเทพใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ขับผ่านผ่านแยกปราณบุรีมุ่งหน้าอำเภอสามร้อยยอดหาปั้มน้ำมันปตท. สามร้อยยอด (https://goo.gl/maps/QYov4S6WZYs4s1Px8) ขับตรงนิดเดียวจะมีทางเลี้ยวซ้ายมีป้ายบอกว่าไปโรงเจลุ่ยอิมยี่ไปตามทางขับเรื่อยไปเลยโรงเจอีกไม่เกิน 10 นาทีจะถึงเส้นทางศึกษาธรรมชาติบึงบัว

📆เปิดทำการ

ทุกวัน 8.00 น. – 16.30 น. 

Errorlloyd

Errorlloyd

เริ่มการท่องเที่ยวสะพายกล้อง มาตั้งแต่อายุ 29 ปี มิชชั่น คือ ทุกปีต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาเรื่องราว เข้าใจที่มาที่ไป รู้จักชีวิตหรือความคิดของคนต่างถิ่น ทุกสุดสัปดาห์ จะต้องเสาะหาสถานที่เที่ยวที่สามารถเดินทางได้ใน 1 วัน และทุกวันหลังเสร็จจากภารกิจงานและชีวิต มุ่งหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
Previous post เข้าถึง 10 มนต์เสน่ห์ของบางน้ำผึ้งนอก-ใน วิถีชีวิตคนไทยและธรรมชาติใจกลางกรุงเทพ
Next post ตามหามรดกที่ซ่อนตัวในกรุงรัตนโกสินทร์ ณ วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร (วัดหมู) ริมคลองภาษีเจริญ